ใยอาหารลดเสี่ยง “มะเร็งลำไส้” สร้างสมดุลระบบทางเดินอาหาร

Alternative Textaccount_circle

คนจำนวนมากยังมีความเข้าใจที่ผิดว่า ทางเดินอาหารเป็นเรื่องของการย่อยอาหารเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงระบบทางเดินอาหารมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพคนเราในหลายมิติ โดยนอกจากจะเกี่ยวข้องกับระบบการย่อยและดูดซึมสารอาหารเพื่อไปใช้ในร่างกายแล้ว การกินอาหารที่มีคุณค่าและพฤติกรรมการกินที่ถูกต้อง ยังส่งผลต่อระบบอื่นๆ ในร่างกาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน ความดันโลหิต การเผาผลาญไขมัน การต้านทานอนุมูลอิสระ เป็นต้น ดังนั้น นอกจากจะคำนึงถึงประโยชน์ในแง่ของพลังงานและสารอาหารที่จะได้รับแล้ว เราควรมีความเข้าใจธรรมชาติและกระบวนการที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร เพื่อการเลือกกินและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบมจ.เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ พีทีวาย ต้องการส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่องจึงจัดประชุมวิชาการในหัวข้อ “การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพในร้านยา” ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยในครั้งนี้ได้นำเสนอความรู้และข้อมูลจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ พรีไบโอติกส์ (prebiotics) และ โปรไบโอติกส์ (probiotics) ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร

พรีไบโอติกส์ คือ ส่วนของอาหารที่ไม่ถูกย่อยในทางเดินอาหารส่วนต้น แต่จะช่วยส่งเสริมการเจริญของจุลินทรีย์บางชนิดในลำไส้ใหญ่และส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย จุลินทรีย์บางชนิดดังกล่าวอาจเรียกว่า โปรไบโอติกส์ ซึ่งมีความหมายว่ากลุ่มของจุลินทรีย์ที่มีชีวิตซึ่งเข้าไปอยู่ในระบบของร่างกายมนุษย์และสัตว์ แล้วก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ โดยจุลินทรีย์นั้นทำหน้าที่ช่วยปรับสมดุลของสภาพแวดล้อมในระบบลำไส้ ตัวอย่าง เช่น โปรไบโอติกส์แบคทีเรีย ได้แก่ แลคโตบาซิลลัส บิฟิโดแบคทีเรีย และโปรไบโอติกส์ยีสต์ ได้แก่ Saccharomyces boulardii เป็นต้น คุณสมบัติที่ดีของโปรไบโอติกส์ ได้แก่ สามารถทนต่อน้ำย่อยกรด ด่าง ในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ จึงเกิดประโยชน์ในการหมักในลำไส้ใหญ่ช่วยส่งเสริมสุขภาพลำไส้

กระบวนการหมักที่ลำไส้ใหญ่นี้ เกิดจากการทำงานของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ จำพวกโปรไบโอติกส์ที่มีจำนวนมากกว่าจำนวนเซลล์ของร่างกายถึง 10 เท่า หรือประมาณ 100 ล้านล้านเซลล์ ซึ่งเมื่อกากอาหารที่ไม่สามารถย่อยด้วยระบบเอนไซม์ในลำไส้เล็กเคลื่อนผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ โปรไบโอติกส์จะใช้ใยอาหารบางกลุ่มเป็นอาหารและผลผลิตจากการหมักจะได้กรดไขมันสายสั้นซึ่งมีเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนั้น การรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในร่างกายเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อสุขภาพของระบบทางเดินอาหารตั้งแต่ระดับพื้นฐาน เช่น ช่วยเรื่องการขับถ่าย การดูดซึมแร่ธาตุบางชนิด และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ไปจนถึงการป้องกันการเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการบริโภคอาหารที่มีบทบาทช่วยส่งเสริมสุขภาพลำไส้ ได้แก่ โปรไบโอติกส์เพื่อเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในร่างกาย และพรีไบโอติกส์เพื่อเสริมประสิทธิภาพโปรไบโอติกส์ให้ดียิ่งขึ้น

อาหารโปรไบโอติกส์ ที่หารับประทานได้ง่ายมากคือ โยเกิร์ต แต่ต้องเลือกให้ถูกต้อง ซึ่งโยเกิร์ตที่จัดว่าเป็นโปรไบโอติกส์ ต้องหมักด้วยเชื้อจุลินทรีย์ที่มีการศึกษาแน่ชัดว่าส่งผลดีต่อสุขภาพ ให้ลองพลิกอ่านฉลากก่อนเลือกซื้อ ที่สำคัญควรดูอุณหภูมิในตู้แช่ด้วยว่าเย็นพอหรือไม่ เพราะส่งผลต่อคุณภาพของโปรไบโอติกส์

นอกจากนี้ยังมียังมีไบโอติกยีสต์ (Probiotic Yeast) ชนิด Saccharomyces boulardii ที่มีคุณสมบัติใช้ในการรักษาอาการท้องเสียเฉียบพลัน  ป้องกันการเกิดท้องเสียระหว่างเดินทาง (Traveler’s diarrhea prevention) กรณีที่จะเดินทางไปที่ที่อาจจะมีสุขอนามัยที่ไม่สะอาด ก็สามารถรับประทานโปรไบโอติกส์ชนิดนี้เพื่อป้องกันการท้องเสียได้ นอกจากนั้นยังช่วยลดปัญหาการเกิดท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะได้

ส่วนอาหารพรีไบโอติกส์ สามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะในผัก เช่น รากชิคอรี หัวอาร์ทิโชก กระเทียม หอมหัวใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ผลไม้ เช่น กล้วย แอปเปิล และเมล็ดธัญพืชบางชนิด นอกจากนี้ยังมีการผสมสารที่เป็นพรีไบโอติกส์ลงในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารก โยเกิร์ต พาสต้า ขนมอบ ซอส อาหารเช้าธัญพืช ซุป ขนมขบเคี้ยวแบบต่างๆ เป็นต้น หรืออาจเลือกรับประทานในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

นายแพทย์สยาม ศิรินธรปัญญา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวถึงประโยชน์ของการใช้พรีไบโอติกส์และโปรไบโอติกส์ในทางเวชปฏิบัติว่า สามารถให้ผลทั้งในแง่การป้องกันและรักษาโรค หรืออาการเจ็บป่วยได้หลากหลาย เช่น การปรับปรุงการทำงานของลำไส้ซึ่งส่งผลต่อระบบการขับถ่าย ช่วยปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหาร ป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในลำไส้ การรักษาการอักเสบของลำไส้ ซึ่งในการรักษานั้นยังปลอดภัยและเกิดผลข้างเคียงน้อย นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง และยังช่วยส่งเสริมการดูดซึมแร่ธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียมเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก

ทั้งนี้ นายแพทย์สยาม ได้กล่าวย้ำว่า พรีไบโอติกส์และโปรไบโอติกส์แต่ละชนิดให้ผลที่แตกต่างกัน จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมในแต่ละกรณี สำหรับการเลือกใช้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นอกจากการเลือกชนิดที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์แล้วควรพิจารณาจากผู้ผลิตที่มีคุณภาพ ไว้วางใจได้ และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ


ภาพ : Pexels

Praew Recommend

keyboard_arrow_up