หม่อมเจ้าการวิก

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก…เสรีไทยสายอังกฤษ (ตอนที่ 16)

หม่อมเจ้าการวิก
หม่อมเจ้าการวิก

หม่อมเจ้าการวิก กับการเป็นเสรีไทยสายอังกฤษ

หม่อมเจ้าการวิก กับเรื่องราวที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ประเทศไทยประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ แล้ว บรรดานักเรียนไทยและคนไทยในอังกฤษได้รวมตัวกันเป็นคณะเสรีไทย และหม่อมเจ้าการวิกก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

เมื่อคุณเสนาะ นิลกำแหง ไปติดต่อขอเชิญพระมนูเวทย์วิมลนาทให้เป็นหัวหน้าคณะ ปรากฏว่าต้องพบกับความผิดหวัง ท่านบอกว่าไม่เห็นด้วยกับความคิดของกลุ่มนักเรียนไทย การประกาศตนว่าไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาล และการที่จะต่อต้านญี่ปุ่นจะทำให้มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 104 ฐานเป็นกบฏนอกประเทศ มีความผิดร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต

พระมนูเวทย์วิมลนาท

ทีแรกทางกลุ่มนักเรียนไทยดำริที่จะเปลี่ยนมาเข้ากราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เพราะทรงเป็นที่รู้จักดีในวงราชการและพระราชวงศ์อังกฤษ แต่ก็เห็นว่าพระองค์ท่านทรงอยู่ในพระฐานะที่สูง และทรงเป็นสตรีเพศ ไม่สมควรที่จะมาเกี่ยวข้องกับทางการทหาร ส่วนหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ ซึ่งทรงจบการศึกษาทางทหารจากวูลวิช (Woolwich) ในหน่วย Royal Horse Artillery แห่งอังกฤษ ก็ติดตรงที่ว่าท่านทรงเป็นเจ้า ซึ่งมี “กลิ่น” ไม่ค่อยดีในวงการเมืองไทย ซึ่งหมายถึงว่าเมื่อวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ทรงเป็นผู้บัญชาการกองทหารรักษาพระองค์ที่พระราชวังไกลกังวล ได้ทรงต่อต้านกับฝ่ายปฏิวัติที่จะมาจับพระเจ้าอยู่หัว โดยการยึดสะพาน ทางรถไฟต่างๆ แถวเพชรบุรีและวางระเบิดไว้ จึงไม่เป็นที่ชอบใจของเหล่าผู้ก่อการฯ ซึ่งท่านก็ได้ทรงอาสาปฏิบัติงานอันเป็นประโยชน์ต่ออังกฤษตั้งแต่ตอนที่สงครามเริ่มเกิดขึ้นใหม่ๆ และรัฐบาลอังกฤษได้รับท่านเป็นทหารในกองทัพบกของอังกฤษด้วย

ที่นี้ยังเหลือผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่เห็นว่าสมควรจะเชิญมาเป็นหัวหน้าได้ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เพราะทรงเป็นที่รู้จักกันดีในสังคมของอังกฤษ โดยที่ทรงมีชายาเป็นชาวอังกฤษ และเป็นผู้ที่จัดการแข่งรถยนต์สร้างชื่อเสียงให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช พระเชษฐาองค์หนึ่งในพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ จนดังในระดับโลก อีกทั้งทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น คุณสว่าง สามโกเศศ จึงเป็นตัวแทนเข้าเฝ้าฯเพื่อทูลเชิญ แต่พระองค์ท่านทรงตอบปฏิเสธว่า ทรงเป็นเจ้า มาเล่นการเมืองไม่ได้ และทรงปฏิบัติราชการในกองรักษาดินแดน (Home Guard) ของอังกฤษอยู่แล้ว

ทางคุณสว่างและคุณเทพ เสมถิติ จึงส่งหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ขออาสาทำการใดๆ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ได้รับคำตอบขอบคุณและคำบอกกล่าวว่า เมื่อทางการมีช่องทางที่จะใช้คนไทยก็จะแจ้งให้ทราบ แต่เรื่องก็เงียบหายไป ที่ประชุมจึงเห็นว่าหากจะติดต่อกับทางการอังกฤษเองคงไม่เป็นผล ควรจะติดต่อหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เล่าเรื่องราวในอังกฤษให้ท่านทราบและขอให้ท่านช่วย โดยคุณเสนาะ นิลกำแหง รับเป็นผู้ติดต่อ เพราะเป็นคนเดียวที่รู้จักสนิทสนมกับท่านดี ด้วยเคยสอบกฎหมายเป็นเนติบัณฑิตได้ในปีเดียวกัน และเคยเล่นเทนนิส เล่นล้างอัดรูปด้วยกันบ่อยๆ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม
หม่อมราชวงส์เสนีย์ ปราโมช
คุณมณี สาณะเสน กับภรรยา

หม่อมราชวงศ์เสนีย์ได้ส่งโทรเลขตอบมาว่ายินดีช่วยเหลือ และจะส่งคุณมณี สาณะเสน มาอังกฤษเพื่อเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ เพราะรู้จักคุ้นเคยกับข้าราชการชั้นสูงของอังกฤษหลายคน คุณมณีเคยเรียนหนังสือในอังกฤษตั้งแต่อายุยังน้อย ในขณะที่บิดา (พระยาวิสูตรโกษา – ฟัก สาณะเสน) เป็นทูตไทยประจำลอนดอน จบวิชากฎหมายในอังกฤษ แล้วเข้ามาทำงานในองค์การสันนิบาตชาติที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ตลอดมา จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเตรียมเดินทางกลับเมืองไทย แต่ก็ไปตกค้างอยู่ในอเมริกา กระทรวงการต่างประเทศจึงสั่งให้อยู่ช่วยราชการที่สถานทูตไทยในวอชิงตันก่อน

เมื่อคุณมณีเดินทางมาถึงอังกฤษแล้ว ได้ดำเนินการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษยืดเยื้ออยู่ราวๆ 2 เดือน เพราะมีข้อขัดข้องต่างๆ นานา (โดยหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯทรงมีส่วนร่วมในการเจรจามาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกขึ้นแผ่นดินไทย) กว่าที่ทางรัฐบาลอังกฤษจะยินยอมตอบรับคณะเสรีไทย โดยผู้ที่สมัครเป็นเสรีไทยไม่ผูกมัดว่าต้องเป็นทหาร เพียงแต่ต้องทำการอันเป็นประโยชน์ในการสงครามตามที่รัฐบาลอังกฤษเห็นสมควร

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลไทยได้ส่งหนังสือยื่นคำขาดเรียกตัวคนไทย นักเรียนไทยกลับประเทศโดยเรือแลกเปลี่ยนเชลย ผู้ที่ไม่กลับจะถูกตัดทุนการศึกษา ค่าใช้จ่าย ถอนสัญชาติไทย และถูกตัดสิทธิที่จะกลับเข้าประเทศตลอดไป ซึ่งก็มีผู้เดินทางกลับส่วนหนึ่ง (รวมทั้งท่านทูตไทย) ด้วยเหตุผลส่วนตัว คือ เป็นห่วงครอบครัว และเห็นว่าควรจะกลับไปใช้วิชาความรู้ที่ได้เรียนมาทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อชาติ ภายหลังบางคนได้ร่วมขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศด้วย

ทางคณะเสรีไทยได้รับหนังสือเวียนให้ประชุมกันในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2485 เป็นครั้งแรก โดยผู้ชายได้สมัครเป็นทหาร เพื่อช่วยราชการในกองทัพบกของอังกฤษตามข้อตกลง และถูกส่งไปยังศูนย์ฝึกอบรมพิเศษ (Special Training Center) ที่ตำบลบิงเลย์ (Bingley) ในนอร์ธแฮมป์ตัน (Northampton) คนไทยที่สมัครเป็นทหารมี 38 คน แต่กองทัพรับไว้ 34 คน รวมทั้งผม อีก 4 คนไม่ผ่านการตรวจร่างกาย คือ คุณเสนาะ ตันบุญยืน หลวงจำนงดิฐการ คุณยิ้ม พึ่งพระคุณ (น้องชายหลวงอดุลเดชจรัส – รองนายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น) และคุณสมบูรณ์ ปาลเสถียร (3 คนหลังนี้เป็นข้าราชการในสถานทูตไทย) แล้วในเย็นวันเดียวกันนี้ สมเด็จพระบรมราชินีโปรดเกล้าฯพระราชทานเลี้ยงส่งแก่ทุกคนที่มาเป็นทหารด้วย ณ ภัตตาคารอาหารจีนชื่อเลออน (LEON) ในกรุงลอนดอน และคณะเสรีไทยสายอังกฤษก็ได้ถือเอาวันนี้เป็นวันที่ระลึกในการสำคัญนี้เสมอมา

ก่อนที่จะเล่าถึงชีวิตการเป็นทหารของคณะเสรีไทย ผมขอบันทึกรายพระนามและรายชื่อของคนไทยในอังกฤษที่เข้ามาร่วมในการนี้ทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง คือ พวกที่สมัครเป็นทหารมี 34 คน ได้แก่ 1. หลวงอาจพิศาลกิจ (อาจ พิศาลบุตร) 2. หลวงภัทรวาที (ศุภวาร วารศิริ) 3. นายกลิ่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา 4. นายประเสริฐ ปทุมมานนท์ 5. หม่อมเจ้ากอกษัตริย์ สวัสดิวัตน์ 6. หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี 7. หม่อมราชวงศ์กิตินัดดา กิติยากร 8. หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ 9. นายสวัสดิ์ ศรีสุข 10. นายจุ๊นเคง (พัฒพงศ์) รินทกุล 11. นายประทาน เปรมกมล 12. นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ 13. นายเปรม บุรี 14. นายรจิต บุรี 15. นายสำราญ วรรณพฤกษ์ 16. นายธนา โปษยานนท์ 17. นายกฤษณ์ โตษยานนท์ 18. นายเสนาะ นิลกำแหง 19. นายประโพธ เปาโรหิตย์ 20. นายเทพ เสมถิติ 21. นายกำแหง พลางกูร 22. นายอรุณ สรเทศน์ 23. นายยิ้มยล แต้สุจิ 24. นายบุญพบ ภมรสิงห์ 25. นายบุญเลิศ เกษมสุวรรณ 26. นายโต บุนนาค 27. นายปัทม์ ปัทมสถาน 28. นายบุญส่ง พึ่งสุนทร 29. นายวัฒนา ชิตวารี 30. นายประพฤทธิ์ ณ นคร 31. นายประจิตร กังศานนท์ (ยศสุนทร) 32. นายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร์ 33. นายสว่าง สามโกเศศ และ 34. ผม ต่อมามีเพิ่มอีก 2 คน คือ นายทศ พันธุมเสน และหม่อมเจ้าจีริดนัย กิติยากร ส่วนหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯได้ทรงเป็นนายร้อยเอกในกองทัพบกอังกฤษก่อนหน้าที่ทุกคนจะสมัครเป็นพลทหาร

ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ส่วนผู้ที่มิได้เป็นทหารมี 2 พระองค์ และ 16 คน คือ 1. สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ 2. หม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี สวัสดิวัตน์ 3. นายมณี สาณะเสน 4. หม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ 5. หลวงจำนงดิฐการ 6. นายยิ้ม พึ่งพระคุณ 7. นายสมบูรณ์ ปาลเสถียร 8. นายพร้อม วัชรคุปต์ 9. นายเกษม ผลาชีวะ 10. นายเต๊กลิ้ม คุณวิศาล 11. นายจำนง สุ่มสวัสดิ์ 12. นายสมาน มันตราภรณ์ 13. นายเกษม ล่ำซำ 14. นายวรี วีรางกูร 15. นางสาวสุภาพ รักตประจิตร (กังศานนท์) 16. นายเสนาะ ตันบุญยืน 17. นางสาวบุปผา แต้สุจิ 18. นางสาวอนงค์ แต้สุจิ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินีนั้น ทรงช่วยงานกาชาดสากล ส่วนมากเป็นงานห่อของส่งให้แนวหน้าร่วมกับสุภาพสตรีอาสาสมัคร ณ ตึกดอร์มีเฮ้าส์ (Dormy House) ของสำนักงานใหญ่ของศูนย์เซนต์จอห์นอัมบูแลนซ์ (St. John’s Ambulance Brigade) ซึ่งเลดี้เอ็ดวีนา เมาน์แบทเทน ภริยาของลอร์ดหลุยส์ เมาน์แบทเทน ผู้บัญชาการสูงสุดของสัมพันธมิตรประจำเอเชียอาคเนย์เป็นประธาน โดยเสด็จฯมากรุงลอนดอนสัปดาห์ละครั้งสองครั้ง แต่ไม่ได้ประทับในลอนดอนตลอดเวลาเพราะสถานการณ์น่ากลัว

นักเรียนไทยที่สมัครเป็นทหารเสรีไทย ถ่ายที่อังกฤษ
นักเรียนไทยที่สมัครเป็นทหารเสรีไทย ถ่ายที่โรงเรียนนอร์ธ วาลส์

จุดประสงค์ของการมาเป็นทหารนี้ก็เพื่อรับการฝึกอบรม ก่อนจะถูกส่งไปยังประเทศอินเดีย แล้วหาทางเข้ามาปฏิบัติภารกิจต่อต้านผู้รุกรานในเมืองไทยต่อไป สถานที่ที่เหล่าทหารเสรีไทยถูกส่งมาฝึกอบรมพิเศษ (คอมมานโด) เป็นแห่งแรกคือ บร็อกฮอลล์ (Brockhall) ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกพิเศษของทหารบก สำหรับทดสอบและประเมินความสามารถของทหารที่ถูกคัดเลือกไปรับการอบรมว่ามีกำลังกาย กำลังใจ และไหวพริบสำหรับปฏิบัติหน้าที่พิเศษได้หรือไม่ หน้าที่เหล่านั้น ได้แก่ การปฏิบัติการแบบจู่โจมเล็ดลอดเข้าไปยึดจุดยุทธศาสตร์ ก่อวินาศกรรมทำลายเส้นทางคมนาคมและคลังอาวุธยุทโธปกรณ์ของข้าศึก ฯลฯ และการฝึกที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การซ้อมรบที่ให้ทุกคนทำหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชา เพื่อที่จะทดสอบความสามารถในการเป็นผู้นำ

การมาฝึกที่นี่ พวกเราทุกคนอยู่ในฐานะทหารลอยที่ยังไม่มีสังกัด ขึ้นอยู่กับหน่วยกลาง และเขาให้พักในตึกชั้นล่าง คล้ายกับปราสาทหลังเล็กๆ และเจ้าของตึกก็เป็นผู้บังคับบัญชา ชื่อพันโทธอร์นตัน (Thornton)

วันแรกที่เป็นทหาร สิ่งที่ผมได้พบคือ กระแสของความรังเกียจเดียดฉันท์ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ไม่รู้ว่าใครเป็นพวกใคร หวาดระแวงคนไทยด้วยกันเอง ผมได้ยินบางคนเขาคุยกันว่ามีเจ้ามา 3 – 4 คน หากมาทำเหยาะๆแหยะๆเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ จะทำให้พวกเขาเสียหาย ถูกตำหนิ ผมได้ยินแล้วเสียใจและผิดหวังมาก ไม่คิดว่าในยามยากอย่างนี้ยังจะมีคนไม่อยากนับเจ้าเป็นคนไทยด้วยกัน

บังเอิญในบ่ายวันรุ่งขึ้นมีนายสิบจมูกบี้ หูตูบ และเป็นดอกกะหล่ำ เขาเหมือนนักมวย ตัวล่ำบึ้ก กล้ามแขนนี้หุบไม่เข้า เดินถือนวมมาหลายคู่ เขาสั่งให้ตีวงรอบแล้วมองหน้า ทุกคนต่างหน้าซีดไปตามๆ กัน เพราะพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นหนอนหนังสือทั้งนั้น ผมนึกถึงคำปรามาสที่ได้ยินแล้วก็คิดในใจว่าขอให้นายสิบคนนี้จ้องเรียกผมทีเถอะ แล้วเขาก็จ้องมาจริงๆ บอกให้ผมเอานวมไปสวมแล้วมาชก และสั่งว่าให้ซัดเต็มที่เลย แรงเท่าไหร่ยิ่งดี ถ้าเผื่อเหยาะแหยะ เขาจะซัดผมจริงๆด้วย

ผมลองต่อยกับเขาตามวิธีที่เคยฝึกมาแต่ครั้งยังเด็ก คือ แรงไปเท่าที่เขาแรงมา พอครบยกเขาเข้ามากอดคอด้วยความพอใจมาก บอกว่าดีมาก อย่างนี้ชอบ เสร็จแล้วเขาหันไปมองคนอื่นที่ยืนหน้าซีด และพูดว่า

“นี่นะ อั๊วเลือกคนนี้เพราะตัวมันเตี้ยและอ้วน แล้วหัวมันเหมือนพรมที่มีดินเยอะๆ และอายุก็ค่อนข้างจะมาก สำหรับพวกลื้อ เรียกว่าถ้าคนนี้ได้เท่านี้ คนอื่นก็ไม่ต้องทดลอง” ซึ่งผมก็หวังในใจว่าทุกคนคงจะพอใจบ้างที่ผมยอมเป็นตัวที่ไปรับบาปแทน จะได้ไม่ต้องหน้าเละไปตามๆ กัน

จากนั้นครูฝึกก็พาไปทดสอบการวิ่งวิบากบนขอนไม้และห้อยโหนไต่เชือก ซึ่งผมและ “เจ้า” อีก 2 องค์ก็ทำเวลาได้ดีทีเดียว ทำให้ตั้งแต่นั้นมาเจ้าองค์อื่นและผมก็เป็นคนไทยเต็มอัตรา ไม่มีใครรังเกียจอีกแล้ว และรักกันเรื่อยมา ทำให้นึกถึงตอนที่ไปชกมวยกับเด็กเกเรกลางถนนในฝรั่งเศส พอไปโรงเรียนแล้วมีเด็กๆ มาขอจับมือด้วย

นอกจากการฝึกวิบากที่ทรหดแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ผมได้ยินมาก่อนหน้าคือ ต้องหัดเป็นคนที่มีจิตใจดุดันด้วย โดยทุกเช้าต้องไปมุดแหวกโครงกระดูกวัวที่เขาเฉือนเนื้อไปขายหมดแล้ว เหลือแต่เลือดที่ติดกระดูก เวลาที่มุดเข้าไปแหวกต้องร้องจ๊ากให้ครูฝึกได้เห็นและได้ยิน เขาจะได้เห็นเป็นคนดุคนป่าขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อมุดเข้าไปจริงๆ แล้ว ผมว่าไม่ต้องทำเสียงร้องหรอก มันจะร้องออกมาได้เอง (เพราะความเหม็น) โชคดีตอนที่รุ่นผมเข้ามาฝึกหลักสูตรนี้ได้ยกเลิกไปพอดี

พวกเราเหล่าทหารเสรีไทยเรียนจบหลักสูตรของที่นี่ในเวลาเพียง 3 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าเร็วเป็นพิเศษ คณะครูฝึกพอใจมาก และได้แจ้งไปยังค่ายทหารเด็นบี้ (Denbigh) ในทางตอนเหนือของเขตเวลส์ ให้เตรียมรับพวกเราเข้าไปฝึกต่อเป็นเวลา 2 เดือน โดยก่อนที่จะเดินทางนั้น ได้รับอนุญาตให้หยุดพักผ่อนได้ 4 วัน

เมื่อครบกำหนด ทุกคนจึงเดินทางกลับมาสมทบกันอีกครั้ง ณ ค่ายทหารเมืองเด็นบี้ เพื่อรับการฝึกในขั้นต่อไป

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up