หม่อมเจ้าการวิก

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก ไฟรักไฟสงคราม (ตอนที่18)

หม่อมเจ้าการวิก
หม่อมเจ้าการวิก

หม่อมเจ้าการวิก ไฟรักไฟสงคราม

หม่อมเจ้าการวิก ทรงสมัครเป็นทหารเสรีไทยสายอังกฤษแล้ว ทรงเข้ารับการฝึกความเตรียมพร้อม และเตรียมออกเดินทางจากอังกฤษไปปฏิบัติหน้าที่ที่ต่างประเทศ ด้วยความที่ไม่ทรงทราบถึงสถานการณ์ในภายหน้าได้ จึงตัดสินพระทัยขอพระราชทานพระราชานุญาตเสกสมรสกับสตรีที่ทรงรักใคร่มานาน คือ หม่อมเจ้าผ่องผัสมณี พระขนิษฐาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงฉายระหว่างประทับที่ต่างประเทศ

 

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และหม่อมเจ้าการวิก ในวัยหนุ่ม

เมื่อครบกำหนดการฝึกเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว สิบเอกเบนท์เล่ย์แจ้งว่ามีคำสั่งให้พวกเราเตรียมตัวย้ายไปอยู่ค่ายทหารแห่งใหม่ที่ชานเมืองแบรดฟอร์ด (BRADFORD) ในเขตยอร์กเชียร์ (YORKSHIRE) วันหนึ่งป๋วยได้เรียกพวกเราประชุมเพื่อขอให้เลือกหัวหน้าคนใหม่ เพราะเขาไม่ต้องการเป็นหัวหน้าตลอดกาล ซึ่งผลออกมาคือ ทุกคนให้เกียรติเลือกผมขึ้นเป็นสิบตรีกิตติมศักดิ์คนใหม่ (ชื่อภาษาอังกฤษว่า LOCAL ACTING UNPAID LANCE-COPORAL ย่อเป็น L.A.U.L.C.) สำหรับค่ายฝึกต่อไป แต่รับเงินเดือน และผลประโยชน์ในตำแหน่งพลทหารอย่างเดิม

ก่อนที่เพื่อนๆทหารเสรีไทยและผมจะเข้ารับการฝึก ณ ค่ายแห่งใหม่ได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในชีวิตผมคือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ท่านหญิงผ่อง เสกสมรสกับผมในวันที่ 7 พฤศจิกายน (พ.ศ.2485) ซึ่งพิธีการนั้นก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยในช่วงเช้าไปจดทะเบียนสมรสกันที่แค็กซ์ตัน ฮอลล์ (CAXTON HALL) และมีงานเลี้ยงฉลองเล็กน้อย ไม่ได้หรูหราแต่อย่างใด เพราะอยู่ในช่วงของสงครามที่อัตคัดขาดแคลนไปเกือบทุกอย่าง

หม่อมเจ้าการวิกกับหม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณีหลังเสกสมรสกันใหม่ๆ

ผมขอเล่าถึงเรื่องราวความรักของผมสักเล็กน้อย เมื่อตอนที่ผมอายุ 18 ปี ผมมีความรักกับสาวฝรั่งเศสอย่างลึกซึ้งตามประสาเด็กหนุ่มจนถึงขั้นที่อยากจะแต่งงานกัน แต่เมื่อผมได้มาพิจารณาถึงความเหมาะสมต่างๆแล้ว ความแตกต่างระหว่างเธอกับผมนั้นมากมาย โดยเฉพาะสังคมแวดล้อมที่เราต่างกันอย่างมาก ซึ่งในอดีตก็มีเจ้านายคนไทย หรือนักเรียนไทยหลายรายที่มาศึกษาต่อต่างประเทศแล้วพบรักกับสาวต่างประเทศ ถึงแม้บางคนจะได้ครองคู่ร่วมกัน โดยฝ่ายผู้หญิงยินยอมเดินทางมาอยู่ในเมืองไทย และพยายามปรับตัว แต่ในที่สุดก็ต้องเลิกรากันไป เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และสภาพสังคมไทยในเวลานั้นยังไม่เปิดกว้างอย่างสมัยนี้ โอกาสที่ทั้งคู่จะครองคู่กันจนตายจากกันนั้นเป็นไปได้ยากมาก

ผมนึกถึงเรื่องนี้แล้วก็ต้องพยายามหักห้ามใจ และบอกกล่าวกับสาวคนรักอย่างเข้าใจกัน จนกระทั่งผมได้มาพบกับหม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี…โดยพระฐานะของท่านหญิงผ่องนั้นทรงอยู่ในชั้น ‘อา’ ของผม และมีชันษาแก่กว่าผมประมาณ 4 ปี ซึ่งความรักความสนิทสนมระหว่างท่านกับผมนั้นมีต่อกันมานาน เพราะความที่ได้อยู่ใกล้ชิด แต่พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีไม่โปรดให้มีการเสกสมรส ด้วยมีพระราชดำริว่าฝ่ายหญิงมีศักดิ์ที่สูงกว่าและอายุมากกว่า เป็นการไม่เหมาะสม

หม่อมเจ้าการวิกกับหม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณีเมื่อครั้งไปทรงสกีที่ออสเตรีย
พระองค์เจ้าวรานนท์ฯ หม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี และหม่อมเจ้าการวิก

ครั้นพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว เหลือเพียงองค์สมเด็จพระบรมราชินี ประกอบกับอยู่ที่ในช่วงเวลาสงคราม ซึ่งผมก็อาสามาเป็นทหารที่ต้องไปปฏิบัติภารกิจ โอกาสที่จะอยู่หรือตายนั้นไม่อาจทราบได้ ผมจึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาต ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินีก็ทรงเห็นใจ โปรดเกล้าฯให้เสกสมรสได้ อย่างน้อยก็ถือว่าได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่เราทั้งสองคนได้สมรักกันในชีวิตคู่ บางทีอาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายก็ได้ การไปรบกับญี่ปุ่นคงจะเหมือนตีตั๋วไปเที่ยวเดียว ไม่มีตั๋วกลับ

ค่ายทหารที่แบรดฟอร์ดชื่อว่าค่าย ‘ธอร์นตัน’ (THORNTON GRAMMAR SCHOOL) เป็นตึกสองชั้นขนาดใหญ่ เดิมจะใช้เป็นอาคารเรียน แต่ยังไม่ทันเปิดโรงเรียนก็เกิดสงคราม จึงเปลี่ยนมาใช้เป็นค่ายทหารแทน กำหนดเวลาที่พวกเราต้องมาฝึกที่นี่นานประมาณ 1 เดือน โชคดีที่ความเป็นอยู่ในค่ายนี้ดีกว่าที่เด็นบี้ คือนอนในตึกบนเตียงสปริง และมีห้องอาหารอยู่ใกล้ๆ ไม่ต้องเดินไกลแต่งานที่ทำยังเป็นพวกขุดมันฝรั่งมาล้าง และปอกเปลือก ปอกหัวหอม และส้วมก็เหม็นจากการกระทำของทหารรุ่นที่มาอยู่ก่อนหน้า

ส่วนการฝึกก็เคร่งครัดตามวินัยทหารอย่างมาก อาทิ เดินแถว ว่ายน้ำ เดินทางไกล แต่ทุกคนก็เริ่มจะปรับตัวได้ และมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น แล้วที่ค่ายนี้ ท่านจีริดนัย ได้สมัครเข้ามาร่วมฝึกด้วยอีกองค์หนึ่ง และทรงปฏิบัติหน้าที่ทหารได้เป็นอย่างดี เพราะทรงแข็งแรงและปราดเปรียวเคยฝึกรักษาดินแดนของอังกฤษมาก่อน

ที่ค่ายนี้มีร้านขายของอยู่ 2 ร้าน คือ ร้านของสตรีอาสาสมัครและร้าน วาย.เอ็ม.ซี.เอ. ทั้งสองร้านรวมอยู่ในอาคารหลังใหญ่ ผู้จัดการร้านวาย.เอ็ม.ซี.เอ. ชื่อมิสซิสเมอร์กะทรอยด์ (MURGATROYD) เธอมีไมตรีจิตต่อพวกเรามากเป็นพิเศษ มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อคุณมณีเดินทางมาเยี่ยมพวกเรา ท่านหญิงผ่องได้เสด็จด้วย และทรงได้รับความเอื้ออารีให้พักที่บ้านของเธอที่อยู่หน้าประตูค่ายด้วย เมื่อครบกำหนดฝึกที่ค่ายนี้แล้ว พวกเราได้รับแจกเครื่องแบบทหารประเทศร้อน เป็นเสื้อและกางเกงขาสั้น และต้องฉีดยาป้องกันโรค และปลูกฝีอีกครั้งหนึ่ง นั่นหมายถึงว่าพวกเราจะต้องออกเดินทางในไม่ช้า ซึ่งทุกคนต่างรู้สึกโล่งใจลึกๆที่จะพ้นจากสภาพที่เป็นอยู่อันน่าเบื่อหน่ายเสียที

แล้ววันหนึ่งในช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2485 พวกเราก็ได้รับคำสั่งให้เดินทางกะทันหัน โดยไม่ให้ส่งข่าวถึงทางบ้านได้ทันเวลา แต่อนุญาตให้เขียนจดหมายทิ้งไว้ และทางกองทัพจะส่งให้หลังจากเดินทางออกจากอังกฤษแล้ว ทั้งนี้เป็นการป้องกันการจารกรรมของข้าศึกว่ากำลังทหารของอังกฤษจะไปลงเรือที่ท่าไหน วันและเวลาใด

เมื่อไปถึงท่าเรือ เกิดปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือลำที่จะบรรทุกพวกเราเกิดขัดข้อง จึงต้องกลับมายังค่ายออดซัล (ODSAL) ที่อยู่นอกเมืองแบรดฟอร์ดอีกค่ายหนึ่ง เพราะที่ค่ายธอร์นตันมีทหารผลัดใหม่เข้ามาอยู่กันเต็ม จนกระทั่งถึงช่วงวันคริสต์มาสในตอนปลายเดือน พวกเราได้รับอนุญาตให้ลากลับบ้านกันชั่วคราวเป็นเวลา 9 วัน และกลับมาที่ค่ายอีกครั้งในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2486 เพื่อรอคำสั่งให้เดินทางใหม่

วันที่ 15 มกราคม พวกเราได้รับคำสั่งให้ออกเดินทางในวันรุ่งขึ้นและถูกกักตัวไม่ให้ออกนอกค่าย พวกเราต่างวุ่นวายกับการจัดสัมภาระและเขียนจดหมายถึงญาติมิตร ซึ่งทางการทหารจะจัดส่งให้หลังจากขบวนเรือออกจากท่าแล้ว พวกเราถูกนำมาส่งที่ท่าเรือเมืองลิเวอร์พูลในตอนบ่ายของวันต่อมา เรือที่บรรทุกพวกเราพร้อมทหารเหล่าอื่นๆ ทั้งชาย-หญิงร่วม 4 พันคน เดิมเป็นเรือสินค้าของฮอลันดา วิ่งระหว่างชวากับฮอลันดามาก่อน มีชื่อเป็นภาษาชวาว่า ‘สิบายัค’ (SIBAJAK) พวกเราออกเสียงอย่างไทยๆกันว่า‘ศรีพยัคฆ์’ บริเวณที่ทหารไทยทั้งหมดถูกจัดให้อยู่นั้นเป็นห้องชั้นล่าง ติดกับห้องเก็บอาหารและครัว เรี่ยระดับผิวน้ำทะเลที่ต้องลงจากระดับดาดฟ้าข้างบนถึง 3ชั้น กว่าที่ขบวนเรือจะออกเดินทางจริงๆก็ตกราววันที่ 23 หลังจากที่ต้องรอทหารเหล่าต่างๆทยอยกันมาลงเรือ และต้องแวะไปรับทหารที่ตกค้างจากเรือลำอื่นที่สก็อตแลนด์อีก ท่ามกลางข่าวร้ายที่ว่าเรือดำน้ำของเยอรมันได้จมเรือรบและเรือสินค้าของอังกฤษไปเป็นจำนวนมาก สร้างความหวาดกลัวให้กับทุกคนไม่น้อยที่จะต้องเสี่ยงกับตอร์ปิโดกลางทะเลในระหว่างทาง

เพียงวันแรกที่ขบวนเรือออกสู่ท้องทะเลลึกของมหาสมุทรแอตแลนติก ก็ต้องประสบกับพายุร้ายทางทิศใต้ของไอร์แลนด์ (IRELAND) นอกเหนือไปจากอากาศที่หนาวเย็น ทหารส่วนใหญ่จะเมาคลื่น อาเจียนกันแทบแย่ ในช่วงแรกที่พายุยังไม่แรงก็ได้เกิดเรื่องพอตื่นเต้น คือ กองทัพอากาศเยอรมันที่ตั้งฐานอยู่ในฝรั่งเศส ได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินขับไล่ออกมาโจมตี แต่ไม่ได้ทำความเสียหาย เพราะเรือรบอังกฤษที่คุ้มกันอยู่ยิงตอบโต้อย่างดุเดือดจนฝูงเครื่องบินไม่สามารถเล็ดลอดเข้ามาถึงเรือบรรทุกทหารได้

วันต่อๆมา พายุก็กระหน่ำแรงขึ้น คลื่นน้ำทะเลสาดซัดจนเรือโคลงเคลงตลอดเวลา มีทหารไทยเพียง 3 คนที่แข็งแรง ไม่เมาคลื่นเลยคือ เทพ ธนา และปัทม์ นอกนั้นมีอาการมากน้อยต่างกันไป แต่คนที่ดูท่าอาการหนักกว่าคนอื่น คือ หลวงภัทรวาที ที่นอนไม่ไหวติงหน้าซีดเผือด

จนพวกเรากลัวว่าจะไม่รอด หากพายุยังคงพัดแรงเช่นนี้

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up