หม่อมเจ้าการวิก

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก ล่องทะเลขึ้นฝั่งที่อินเดีย (ตอนที่20)

หม่อมเจ้าการวิก
หม่อมเจ้าการวิก

หม่อมเจ้าการวิก ล่องทะเลขึ้นฝั่งที่อินเดีย

หม่อมเจ้าการวิก พร้อมคณะนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษ ได้เดินทางออกจากแอฟริกาใต้ต่อไปยังประเทศอินเดีย เพื่อเตรียมฝึกซ้อมในการปฏิบัติการแบบกองโจร แต่น่าเสียดายว่า มีเพื่อนบางคนต้องออกจากการฝึก เพราะเกิดการเหตุจนไม่สามารถฝึกต่อไปได้

เรือ ‘สตาร์ธแอรด์’ ที่นำกำลังทหารอังกฤษพร้อมกับพวกเราทั้ง 36 ชีวิต ฝ่าคลื่นลมในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ โดยมีจุดหมายแรกที่สุเอซและปอร์ตเซอิด เพื่อส่งทหารส่วนหนึ่งขึ้นไปรบในแถบดินแดนทวีปแอฟริกาเหนือ ก่อนจะมุ่งหน้าสู่อินเดียต่อไป

เรือที่พวกเราโดยสารนั้นเดิมเป็นเรือโดยสารของบริษัท P (PENINSULA) AND O (ORIENTAL) STEAM NAVIGATION COMPANY แล่นในเส้นทางลอนดอน-บอมเบย์-โคลัมโบ-เมลเบิร์น-ซิดนีย์ เรือลำนี้สามารถรับคนได้ร่วม 6,000 คน แต่การเดินทางครั้งนั้นบรรทุกทหารไปประมาณ 4,000 คน จึงไม่แออัดมากนัก ทว่าเรือก็บรรจุเหล่าอาวุธยุทโธปกรณ์ไปจนเพียบ พวกเราหลายคนได้รู้จักสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ของเรือคนหนึ่ง ชื่อมิสเตอร์เจฟฟรี่ย์ โกร๊ค (GOEFFREY GROARKE) หลังจากสงครามเลิก เขายังทำงานอยู่บนเรือลำนี้ต่อมาอีกหลายปี จนกระทั่งเรือถูกปลดระวางขายเป็นเศษเหล็ก เขาได้เก็บเศษไม้สักบนเรือจารึกชื่อพวกเราทั้งหมดมาแจกให้เป็นที่ระลึกด้วย ภายหลังเขาเข้ามาทำงานในเมืองไทย และได้มาร่วมงานเลี้ยงประจำปีกับพวกเราเสมอ

พวกเราถูกจัดให้อยู่บริเวณชั้นล่างของเรือที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ ในส่วนที่เป็นห้องรับประทานอาหารร่วมกับทหารฝรั่งอีกหลายสิบคน เวลารับประทานอาหารเสร็จก็เก็บโต๊ะใช้เป็นที่นอน บางคนนอนใต้โต๊ะ บางคนนอนบนเปลที่แขวนไว้เหนือโต๊ะ สิ่งที่ผมรู้สึกว่าน่าอึดอัดคือ เวลาพวกขี้ยาสูบบุหรี่ในห้องแล้วอากาศไม่ถ่ายเท ทำให้หายใจไม่ออก ทางเรือก็สั่งห้าม อนุญาตให้ไปสูบบนดาดฟ้าแทนได้ แต่ในตอนกลางคืนนั้นห้ามเด็ดขาด เพื่อป้องกันอันตรายจากการโจมตีของข้าศึก เพราะแสงไฟของบุหรี่สามารถเห็นได้ไกลเป็นระยะถึง 1 กิโลเมตรทีเดียว

แต่สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุดคือ เรือดำน้ำของข้าศึกที่ยิงตอร์ปิโดเข้ามา สามารถจมเรือลงก้นทะเลได้ใน 4 นาทีครึ่ง แต่การซ้อมหนีภัยลงเรือบดเวลาเรือถูกยิงที่เขาให้ซ้อมทุกวันอย่างเป็นระเบียบทีละหน่วยๆนั้น กว่าพวกเราที่อยู่ชั้นล่างสุดจะขึ้นเรือบดได้ ก็กินเวลาถึง 35 นาที ผมไม่กลัวถูกยิงตาย แต่กลัวจมน้ำแล้วหายใจไม่ออกมากกว่า

หม่อมเจ้าการวิก ทรงชุดนายทหารอังกฤษ
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำในการก่อสงครามโลกครั้งที่ 2

ขบวนเรือแล่นผ่านช่องแคบโมซัมบิก (MOZAMBIQUE CHANNEL) ซึ่งอยู่ระหว่างรัฐโมซัมบิกกับเกาะมาดากัสการ์ (MADAGASCAR) จนกระทั่งถึงเอเดน ส่งทหารจำนวนครึ่งหนึ่งของทั้งหมดขึ้นที่สุเอซและปอร์ตเซอิดในย่านทะเลแดง จากนั้นจึงมุ่งสู่เมืองบอมเบย์ด้านฝั่งตะวันตกของอินเดีย ในช่วงการเดินทางช่วงนั้นคลื่นลมสงบ ท้องฟ้าสวยงามและอากาศร้อน ผมรู้สึกตื่นเต้นกับบรรยากาศที่เห็น เพราะห่างเหินความคุ้นเคยนี้ไปนานร่วม 17 ปี ประกอบกับเป็นโชคดีที่ท้องทะเลในมหาสมุทรอินเดียไม่มีกองทัพเรือรบของญี่ปุ่นเพ่นพ่านหนาแน่นเหมือนกับทะเลทางยุโรปที่เยอรมันส่งเรือรบและเรือดำน้ำอาละวาดกันยุ่บยั่บ ทหารบนเรือจึงมีความสุขสราญกันถ้วนหน้า มีทหารฝรั่งมาขอฟังคำบรรยายที่พวกเราผลัดกันสอนเศรษฐศาสตร์ การแพทย์ เคมี ฯลฯ ซึ่งเป็นวิชาต่างๆที่พวกเราเรียนกันมา

ขณะที่เรือกำลังมุ่งเข้าสู่เมืองบอมเบย์ นายทหารผู้ควบคุมและเจ้าหน้าที่ประจำเรือได้พร้อมใจกันจัดงานรื่นเริงขึ้น มีการแข่งขันกีฬา การแสดงและคอนเสิร์ต พวกเรา 36 คน ได้เข้าร่วมแข่งขันกีฬาทุกประเภทรวมทั้งชกมวย บุญพบ ภมรสิงห์ ซึ่งเป็นลิเกเก่าและมีโอกาสติดตามคณะศิลปินต่างชาติ ระหกระเหินจากเมืองไทยจนไปถึงอังกฤษ แล้วร่วมอาสาเป็นเสรีไทยเพื่อกลับมารับใช้ชาติได้แสดงการรำไทย และได้รับความสนใจจากเพื่อนทหารต่างชาติมาก จนต้องแสดงถึงสองรอบ

ผมสมัครลงกีฬาชกมวย โดยขณะนั้นรู้สึกมีไข้เล็กน้อย แพทย์สั่งให้นอนพักผ่อน แต่ผมเห็นว่าชกแค่ 3 ยกคงไม่เป็นไรจึงไม่ขอถอนตัว ปรากฏว่าคู่ชกของผมเคยเป็นรปภ.ในร้านเหล้าที่คอยโยนคนเมาที่เกเรออกจากร้าน ตัวโต สูงล่ำกว่าผม จึงต้องแพ้ไปตามระเบียบ แต่ตอนหลังเพื่อนทหารรู้ว่าผมลงชกด้วยจิตวิญญาณของนักกีฬาและขัดคำสั่งแพทย์ เขาก็ยกย่องให้เป็นผู้แพ้ที่ดีที่สุด แทบจะเป็นวีรบุรุษทีเดียว มีทหารเด็กๆคอยอาสาไปเข้าแถวซื้อน้ำชามาให้ดื่ม

ส่วนเพื่อนอดีตนักกีฬาเก่าผู้แข็งแรงได้แก่ ประทาน ป๋วย และสวัสดิ์ ชนะการโดดสูง ธนา เสนาะ และหลวงอาจฯ ชนะเดินเร็ว ปัทม์ กอกษัตริย์ จีริดนัย และภีศเดช แม้จะไม่ได้รางวัลในชั้นเยี่ยม แต่ก็แสดงความสามารถเต็มที่จนชนะใจคนดู

หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ผู้นำเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา

เรือเข้าจอดเทียบท่าที่บอมบ์เบย์ ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2486 เมื่อนับรวมๆกันแล้วพวกเราใช้เวลาเดินทางตั้งแต่ออกจากลิเวอร์พูลแวะพักที่แอฟริกาใต้ จนมาถึงที่นี่ประมาณ 3 เดือน เท่าที่ผมเห็น เมืองบอมบ์เบย์นี้เป็นเมืองใหญ่มาก อาคารบ้านเรือนปลูกอยู่หนาแน่น บริเวณอ่าวปลูกต้นไม้ประเภทปาล์มเรียงราย และมีทิวเขากระจัดกระจายไปทางทิศตะวันออกดูสวยงาม อากาศในขณะนั้นร้อนอบอ้าวและชื้นมาก

พวกเราลงเรือในตอนเช้าของวันต่อมา โดยมีนายทหารคนหนึ่งของหน่วย SIAM SECTION และพาไปพักที่ค่ายพักผ่านชานเมืองที่ตำบลโคลาบาร์ (COLABAR) ตั้งอยู่ชายทะเล มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายพอสมควร ที่พักเป็นอาคารหลังยาว มีเตียงเรียงรายสองแถว เว้นว่างกลางห้องเป็นทางเดิน มีหน้าต่างหลายบาน ทั้งสองด้านมีพัดลมเพดานหลายตัว ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบรรเทาอากาศที่ร้อนอบอ้าว

ที่ค่ายนี้พวกเราได้เลื่อนฐานะขึ้นเทียบเท่านักเรียนนายร้อย ได้รับประทานอาหารกับพวกนายสิบครูฝึก มีแขกคอยเสิร์ฟอาหาร ล้างจานชาม และคอยรับใช้ต่างๆ ห้องน้ำห้องส้วมก็สะดวกและสะอาด ความเป็นอยู่ดีกว่าที่เด็นบี้แยะ

วันรุ่งขึ้น หลังอาหารเช้า นายทหารคนที่มารับที่เรือมาพบพวกเราบอกว่า มีคำสั่งให้พวกเรา 19 คนที่เขาเลือกไว้แล้ว เตรียมตัวออกเดินทางไปค่ายเมืองปูนา (PUNA) ในวันรุ่งขึ้นเพื่อฝึกหน่วยสงครามพิเศษแบบกลุ่มกองโจร ซึ่งจะถูกส่งเข้าปฏิบัติงานในเมืองไทยในการก่อกวนข้าศึก พวกที่จะมาฝึกในหน่วยนี้ เขาพิจารณาแล้วว่าเป็นพวกที่มีปฏิภาณไหวพริบ การตัดสินใจใช้ได้ มีกำลังกายและใจเข้มแข็งพอจะดำรงชีวิตอย่างทรหดได้เป็นเวลานานๆ เพราะต้องถูกฝึกหนักกว่าทหารหน่วยรบปกติ ผู้ที่ถูกคัดเลือก ได้แก่ กอกษัตริย์ จีริดนัย ภีศเดช ป๋วย ประทาน เปรม รจิต สำราญ ธนา กฤษณ์ ประเสริฐ ประโพธ ประพฤทธิ์ บุญส่ง ปัทม์ อรุณ วัฒนา และผม ต่อมาเพื่อนอีกสามคนถูกส่งมาร่วมฝึกสมทบด้วย คือ ทศ เสนาะ (นิลกำแหง) และเทพ

ส่วนคนอื่นที่เหลือก็ถูกแยกย้ายกันไปทำงานอย่างอื่น เช่น หลวงอาจฯ ถูกเลือกไปทำงานหน่วยสืบราชการลับหาข่าวกรองที่สำนักงานในกรุงเดลี สวัสดิ์กับจุ๊นเคงไปฝึกที่เมืองกัลกัตตา หลวงภัทรฯ จิรายุ ประจิตร และวิวรรธน์ ถูกเลือกไปปฏิบัติงานด้านข่าวสาร คอยฟังและจดข่าววิทยุจากเมืองไทย แล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษเสนอต่อเจ้าหน้าที่ส่งวิทยุกระจายเสียงภาคภาษาไทยจากสถานีวิทยุ ออลอินเดีย เรดิโอ (ALL INDIA RADIO) รวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์และเอกสารที่ได้จากประเทศไทย หน่วยงานนี้ขึ้นกับกระทรวงการสนเทศ (MINISTRY OF INFORMATION) ซึ่งต่อมาในระยะใกล้สงครามเลิกกลายเป็นหน่วยงานสำคัญ และต้องระดมพวกเราเข้ามาเพิ่มเติมอีก ได้แก่ สว่าง ม.ร.ว.กิตินัดดา ส่วนคุณสุภาพ (รักตประจิตร) รับคำสั่งให้เดินทางมาจากอังกฤษ

และกอกษัตริย์ ซึ่งทรงถูกย้ายมาทีหลัง เพราะเกิดประชวรด้วยโรคต่อมไทรอยด์ (THYROID) จนไม่อาจฝึกอยู่ในหน่วยสงครามพิเศษต่อไปได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up