ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก…จากผืนฟ้าสู่มาตุภูมิ (ตอนที่30)

หม่อมเจ้าการวิก เสด็จกลับเมืองไทยเป็นครั้งแรก

หม่อมเจ้าการวิก ก็ทรงกระโดดร่มเข้าเมืองไทยอย่างปลอดภัย  โดยเป็นการเสด็จกลับเมืองไทยเป็นครั้งแรก หลังจากเสด็จไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศสตั้งแต่ยังทรงเยาว์  นับเป็นเวลานานกว่าสิบปี ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์บ้านเมืองอย่างมากมาย

เมื่อพันโท ฮัดสัน หรือ ไอ้สบู่ ที่พวกเราตั้งชื่อให้ กลับถึงอังกฤษแล้ว แทนที่จะไปเป็นที่ปรึกษาทางทหารกลับอาสามากระโดดร่มเข้าเมืองไทย เพราะว่ามีความชอบพอกับพวกเราและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก เมื่อเขามาถึงเมืองไทยแล้วก็อยู่กับชาวบ้านได้ดี แม้เขาจะเป็นคนแข็งแกร่ง แต่กับท่านชิ้นแล้ว เขายอมโอนอ่อนผ่อนตามทุกอย่าง จนท่านเรียกว่า ‘ไอ้ผู้หญิงโซฟี่’

เท่าที่ผมจำได้ เขาเคยขัดท่านอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนที่อยู่เมืองมัทราส ท่านโซฟี่ และผมเดินตามถนนไปยังที่แห่งหนึ่ง ระยะทางค่อนข้างจะไกล แต่ท่านทรงขี้เกียจเดิน และอากาศก็ร้อน ท่านจึงเรียกรถลากคันหนึ่ง โซฟี่เห็นเข้าบอกว่า

“อย่าไปทรมานเขา ตัว (แขก) เล็กนิดเดียวยังต้องลากทั้งรถที่หนัก และท่านเองก็ตัวใหญ่ ท่านควรเดินไปเองดีกว่า” แต่ท่านก็ทรงขึ้นนั่งบนรถลากเฉย…

ไปให้กำลังพระทัยท่านศุภสวัสดิ์ ในการฝึกกระโดดร่ม

ก่อนจะไปฝึกกระโดดร่ม ท่านเคี่ยวเข็ญมากทั้งผมและโซฟี่ รับสั่งว่า

“ไอ้โซฟี่อยู่หน้า อั๊วอยู่กลาง ลื้ออยู่ข้างหลัง หรือใครจะอยู่หน้าหรืออยู่หลังก็ได้ แต่อั๊วต้องอยู่กลาง แล้วโดดพร้อมกัน” ผมก็ทูลท่านว่า

“ไม่มีอะไรหรอก โดดมาปั๊บ จับกางเกงให้ดีๆ แล้วทำตัวให้ตรง อย่าถ่างขา กางแขน แล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย และร้องเฮ้ย! ร่มจะเปิดพึ่บ พอร่มเปิดจะรู้สึกเหมือนขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น น่าวิเศษจริงๆ”

พอถึงสนามบิน เครื่องบินที่พวกเราสามคนใช้ฝึกกระโดดกลายเป็นเครื่องบินดาโกต้า DC-4 ไม่ใช่เครื่อง B-24 ที่ผมฝึกมาหลายครั้ง เครื่องบินชนิดนี้พลร่มต้องกระโดดจากประตูข้างเครื่อง ซึ่งน่ากลัวกว่า เพราะเครื่องบินชนิดนี้บินช้ามาก เมื่อตัวพุ่งตรงลงไปเกือบจะเป็นแนวดิ่ง ไม่แฉลบเหมือนหย่อนตัวออกจากพื้นเครื่องบิน B-24 แต่ผมไม่ได้ทูลอะไร เพราะท่านทรงยิ่งกลัวๆอยู่ ยังรับสั่งว่า

“อั๊วกลัว อั๊วไม่อยากโดด” ท่านทรงยอมรับตรงๆ ไม่เหมือนผมที่ทำเป็นกล้า

“ไม่ได้นะท่าน ไม่อยากโดดอย่าให้ใครรู้ เดี๋ยวฝรั่งเขาจะหาว่าเราขี้ขลาด” ท่านถึงทรงยอมขึ้นเครื่องบิน เมื่อเครื่องลอยอยู่บนอากาศได้ระดับแล้ว ไอ้โซฟี่กระโดดออกมาก่อน ท่านเป็นคนที่สอง แล้วผมกระโดดตาม พอท่านกระโดดออกไป ตัวหมุนติ้ว ผมร้องแทนให้ว่า เฮ้ย! ร่มยังไม่เปิด ร้องเฮ้ย! อีกทีก็ยังไม่เปิด รู้สึกเสียวไส้ ครั้งที่สาม ผมร้องเอ๋งงงง…ร่มของท่านเปิดพึ่บ เชือกร่มของท่านพันเป็นเกลียว ท่านก็ดึงให้คลายออก ยังนึกอยู่ว่าลงถึงพื้นแล้วต้องทรงสวดอย่างแรงแน่ พอลงมาถึง ท่านหัวเราะและตรัสว่า

“ไม่น่ากลัวเท่าที่นึก แต่ไม่เห็นเป็นอย่างที่ลื้อบอก อั๊วต้องร้องตั้งหลายเฮ้ย!”

ภายหลังไปซ้อมกระโดดร่มเป็นเพื่อนท่านชิ้นไม่นาน ผมก็ได้รับคำสั่งให้เตรียมตัวกระโดดร่มเข้าเมืองไทยในฐานะมือวิทยุของคณะเนโรเนียน (NERONIAN) กับอรุณ (หัวหน้าคณะ) นับเป็นคณะที่หก ซึ่งถือว่าช้ามาก ด้วยเป็นเพราะเขาคงเห็นว่าผมจากเมืองไทยไปนานถึง 17 ปีกว่า คงไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเมืองไทยมากเท่าไร จึงเก็บเอาไว้เป็นคณะหลังๆ แล้วผมต้องประสบกับความผิดหวังที่จะได้เข้าเมืองไทยมาหลายครั้งจนไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไรอีกแล้ว เพราะในแต่ละครั้งที่ได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อม (STAND BY) ผมก็แจกเงินเดือนที่ได้มาให้เพื่อนๆ ผมคิดว่าเอาไปก็ไม่มีประโยชน์ มันไม่มีตั๋วกลับอยู่แล้ว ถ้ากระโดดลงไป แต่พอเขาบอกว่าให้เลื่อนออกไป หน้าซีดเลยไม่มีเงินเหลือแล้ว ถ้าเพื่อนอยู่เขาก็คืนให้ บางคนย้ายไปฝึกที่อื่น ก็ต้องขอเบิกใหม่ล่วงหน้า นี่เป็นข้อปฏิบัติของพวกเรา

เสรีไทย แกนนำ
คณะทหารเสรีไทยในประเทศ

ครั้งหลังสุดก่อนกระโดดจริง ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่บินมาถึงพม่าก็ประสบกับพายุต้องบินกลับ ในที่สุดทางกองกำลัง 136 แจ้งว่าจะส่งเราสองคนเข้าไปตอนพลบค่ำของวันที่ 4 มีนาคม ซึ่งไม่ทันในช่วงเดือนหงาย โดยมีจุดหมายที่จังหวัดสุโขทัย และติดต่อให้คณะของทศมารอรับ ผมทราบทีหลังว่า ทศได้ท้วงว่า การปล่อยพลร่มตอนพลบค่ำในช่วงที่ไม่ใช่เดือนหงายนั้นเสี่ยงมาก ถ้าเครื่องบินมาถึงช้าไปก็มืดเกินกว่าจะทิ้งพลร่ม เพราะจะกะเวลาที่เท้ากระทบพื้นไม่ถูกอาจขาหัก แต่ถ้ามาเร็วไปท้องฟ้าก็ยังสว่าง ผู้คนคงเห็นกันเยอะ คงจะถูกล่าจับกันสนุก ขอให้เลื่อนไปในช่วงเดือนหงายถัดไป แต่ทางฐานทัพ 136 บอกรอไม่ได้ เพราะจะรีบส่งเข้ามาอีก 2 คณะ

ปรากฏว่าเครื่องบิน B-24 ที่นำอรุณกับผมเข้ามาได้ลมส่งท้ายเข้ามาถึงก่อนกำหนดเวลากว่าครึ่งชั่วโมง (ราวห้าโมงเย็น) ท้องฟ้ายังสว่างโร่ แดดจ้า ผมมองลงมาเห็นผู้คนกำลังอาบน้ำริมแม่น้ำตอนผ่านจังหวัดตาก เห็นคนมองขึ้นมาแล้วพาชี้กันใหญ่ และผู้คนในตลาดสุโขทัยก็มองเห็นอีก นักบินถามว่า

“จะลงจริงๆหรือนี่ คนเห็นกันหมดแล้ว ป่านนี้ข่าวคงถึงญี่ปุ่นแล้วมั้ง”

“ไม่ไหวแล้ว รอมาตั้งนาน เห็นที่จะลงอยู่แล้ว ให้กลับอีกไม่เอาละ ขอลงทั้งกลางวันอย่างนี้ เป็นอย่างไรก็เป็นกัน” เราตอบพร้อมกัน

เราสองคนจึงมานั่งที่รางเตรียมตัวกระโดด นายสิบที่คอยอยู่จับมือและอวยพรสั้นๆ เมื่อทุกอย่างพร้อม มีคำสั่ง ACTION STATION GO! เราสองคนปล่อยมือจากขอบรางเลื่อนออกสู่ห้วงเวหา ร่มเปิดออกพยุงร่างลอยละลิ่วลงมาสู่พื้นเบื้องล่างในบริเวณที่ทำสัญลักษณ์ไว้โดยไม่ทันคิดอะไรเลย

ผมขอเล่าถึงการกำหนดเวลา สถานที่ที่พลร่มจะกระโดดร่มและการปฏิบัติตัวเมื่อร่มถึงพื้น จากการเรียนรู้และฝึกหัดมา คือ ให้หาเป้าหมายที่จะลงที่ดีที่สุด โดยลงบริเวณที่โล่ง แต่มีป่ารอบ ถ้าเป็นฤดูหนาวควรลงตอนก่อนย่ำค่ำสักนิด จะได้มีเวลาเก็บร่ม สัมภาระเสร็จก็มืดพอดี เมื่อพับร่มเสร็จจะได้แวบเข้าไปในป่า ซึ่งจะมีพรรคพวกกับชาวบ้านนำเกวียนมารอรับ ขุดหลุมฝังร่มเอาสัมภาระใส่เกวียน แล้วเอากระสอบที่ติดตัวมาโกยดินที่พูนขึ้นจากการฝังร่มไปทิ้งที่อื่น เพื่อทำลายหลักฐานและร่องรอย ส่วนเรื่องสถานที่ที่จะลงนั้น ทางอังกฤษจะปรึกษากับทางเมืองไทยว่าที่ไหนพร้อมก็ให้เข้ามาได้

หลวงธำรง นาวาสวัสดิ์

บริเวณที่เตรียมให้อรุณกับผมกระโดดลงมานั้น เป็นสถานีทดลองการเกษตรอำเภอศรีสำโรง หัวหน้ามารับ คือ คุณแสวง กุลทองคำ เป็นหัวหน้าสถานี และภรรยาคือ คุณสมจิต (โล่นักรบ) ภายหลังได้เป็นคุณหญิง กับตำรวจจำนวนหนึ่ง และคณะของทศ มีตำรวจคนหนึ่งชื่อ ดาบตำรวจประสิทธิ์ (จำนามสกุลไม่ได้) ทันทีที่เขาเห็นผมลงมาอยู่ที่พื้นก็วิ่งมาถึงตัวแล้วร้องว่า

“โอ๊ย! คุณๆ คนอ้วนนี่เขาชักจนมือหงิก” ความจริงผมคว้าเก็บดินตรงนั้นมาบีบ และดมดูเพราะไม่ได้กลิ่นมานานแล้ว อยากดมให้ชื่นใจสักหน่อย พอได้ยินอย่างนั้น ผมต้องรีบปล่อยและรีบลุกขึ้นหันไปอีกด้าน เจอเด็กเลี้ยงควาย 3-4 คน ยืนอ้าปากหวออย่างตกตะลึง ตำรวจขู่ว่า

“มึงไม่เห็นอะไรนะวันนี้ ถ้าเผื่อพวกนี้ถูกจับหรือเป็นอะไรไป พวกมึงเป็นศพ”

            “ครับๆไม่เห็นครับ ไม่เห็น” พวกเด็กๆ รีบรับคำ…..

 

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up