“ทอม แซกซ์” ครีเอต “ไนกี้คราฟต์ มาร์ส ยาร์ด 2.0” รองเท้าเพื่อนักบินอวกาศ แรงบันดาลใจจากนาซ่า

รองเท้าไนกี้เป็นไอเท็มที่สาวกคนรักแฟชั่นสตรีทสไตล์ชอบกันสุดๆ ออกสินค้าตัวใหม่มาเมื่อไหร่ก็ได้ผลตอบรับดีตลอด ซึ่งไนกี้ร่วมกับทอม แซกซ์ ศิลปินชื่อดัง นำเสนอรองเท้าไนกี้คราฟต์ มาร์ส ยาร์ด รุ่นแรกเมื่อปี 2012 โดยรองเท้ารุ่นนี้เป็นรองเท้าที่แซกซ์ได้รับอิทธิพลจากการทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซ่า โดยเขาตั้งใจให้รองเท้ารุ่นนี้เป็นรองเท้าสำหรับนักบินอวกาศและเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการสเปซโปรแกรม 2.0: มาร์ส เอ็กซิบิชั่น (SPACE PROGRAM 2.0: Mars exhibition) 

ทอม แซกซ์

ซึ่งปัจจุบันนิทรรศการนี้ตั้งอยู่ที่อาคารปาร์คอเวนิวอาร์เมอรี่ (Park Avenue Armory) ในนครนิวยอร์ก และในปีนี้ (2017) รองเท้าไนกี้คราฟต์ มาร์ส ยาร์ด รุ่นที่ 2 จะออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ รองเท้ารุ่นใหม่นี้ผลิตจากวัสดุใหม่ที่แซกซ์ศึกษาทดลองกับรองเท้ารุ่นดั้งเดิม ซึ่งเขาได้รับผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจ

 

รองเท้าไนกี้คราฟต์ มาร์ส ยาร์ด 2.0 

รองเท้ารุ่นดั้งเดิมผ่านการทดสอบความทนทานของพื้นผิวต่อรอยขูดขีด การทดสอบความแข็งแรง การบิดงอ ผ่านการทดสอบรองเท้าตามมาตรฐานทุกอย่าง แต่เมื่อสวมใส่จริง ความรู้สึกที่ได้รับกลับไม่น่าประทับใจ

แซกซ์เล่าว่า ความรู้สึกนี้จะไม่มีทางสัมผัสได้เลยจนกว่าเราจะใส่รองเท้าคู่นั้นจริงๆ และนั่นทำให้เรารู้สึกว่าเราผลิตรองเท้าโดยใช้วัสดุใหม่ล่าสุด เราควรจะทำดีกว่านี้ แม้ว่าเส้นใยสังเคราะห์เวกทราน (Vectran) จะมีน้ำหนักเบาและแข็งแรงกว่าเส้นใยพอลิเอสเตอร์ แต่เมื่อใช้งานในระยะเวลานาน เส้นใยเวกทรานอาจจะอ่อนตัวลงจนทำให้รองเท้าเสื่อมคุณภาพก่อนเวลาอันควร

รองเท้าไนกี้คราฟต์ มาร์ส ยาร์ด 2.0 

แซกซ์และนักออกแบบของไนกี้ใช้เวลากว่า 5 ปีทดสอบรองเท้าไนกี้คราฟต์ มาร์ส ยาร์ด ด้วยการสวมใส่ในชีวิตประจำวันตลอดการทดลอง แซกซ์และนักออกแบบของไนกี้ค้นพบสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างที่ไม่อาจค้นพบได้จากกระบวนการออกแบบ และผลการศึกษาเหล่านั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนารองเท้าไนกี้คราฟต์ มาร์ส ยาร์ด 2.0 ยิ่งไปกว่านี้ รองเท้ารุ่นนี้ยังเป็นรองเท้าที่ผสานปรัชญาการออกแบบของทั้งแซกซ์และไนกี้ นั่นคือการใช้งานออกแบบเพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์อย่างไม่หยุดยั้งไว้อย่างลงตัว

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา แซกซ์พบว่ารองเท้าไนกี้คราฟต์ มาร์ส ยาร์ด มีจุดอ่อนหลายประการ เขาจึงทำงานร่วมกับนักออกแบบของไนกี้เพื่อพัฒนารองเท้ารุ่นใหม่ให้มีความทนทานยิ่งขึ้น หน้ารองเท้าของรองเท้าไนกี้คราฟต์ มาร์ส ยาร์ด 2.0 นั้นเปลี่ยนวัสดุจากเส้นใยเวกทรานเป็นพอลิเอสเตอร์ที่ถักโดยใช้กระบวนการแบบทริคอต  (Tricot) เพื่อยึดเส้นใยพอลิเอสเตอร์แต่ละเส้นให้คงที่และมีผิวสัมผัสเหมือนตาข่าย โครงสร้างนี้ช่วยเสริมการระบายอากาศให้ดีขึ้น เนื่องจากมีจุดที่ระบายอากาศไม่ดีน้อยลง ความสวยงามของรองเท้าอาจถูกลดทอน แต่ก็แทนที่ด้วยความเรียบง่าย แถบช่วยในการสวมใส่สีแดงนั้นแข็งแรงขึ้นด้วยแนวคิดการเดินด้ายเป็นรูปกากบาท

นอกจากนี้ลวดลายพื้นรองเท้าแบบเดิมที่ออกแบบเพื่อใช้บนพื้นผิวที่เป็นดินทรายอย่างดาวอังคารนั้นยังได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมกับการใส่ในเมืองดียิ่งขึ้น มากไปกว่านั้นรองเท้าไนกี้คราฟต์ มาร์ส ยาร์ด 2.0 ยังมีพื้นรองด้านในรองเท้าถึง 2 แบบให้เลือก คือ แบบที่ผลิตจากผ้าตาข่าย และแบบที่ผลิตจากไม้ก๊อก (ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชอบสวมใส่รองเท้าผ้าใบโดยไม่ใส่ถุงเท้า)

พื้นรองด้านในรองเท้าแบบผ้าตาข่าย (ซ้าย) มีการวาดภาพลวดลายเชือกไว้บนพื้น ส่วนพื้นรองด้านในรองเท้าแบบที่ผลิตจากไม้ก๊อกนั้นมีรูปวาดที่สื่อถึงวัตถุในอวกาศ

รองเท้ารุ่นใหม่นี้คืออีกหนึ่งตัวอย่างของการปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่แซกซ์กระทำมาโดยตลอด และในความเป็นจริงแล้ว เขามักจะคิดเสมอว่างานของเขาเป็นงานที่ไม่มีวันสิ้นสุด ปรัชญาการทำงานนี้เป็นเสมือนหลักปฏิบัติในการทำงานของแซกซ์  เขาไม่เคยซ่อนรอยต่อ ฝีเข็ม หรือเส้นด้ายต่างๆ ในงานสร้างสรรค์ของเขาเลย เพราะเขาต้องการสื่อให้ทุกคนทราบถึงความพยายามในการสร้างสรรค์ผลงานทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม (ก่อนจะเป็นนักออกแบบ แซกซ์เป็นประติมากรมาก่อน)

แซกซ์เป็นนักออกแบบที่สนใจศึกษาวัสดุต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และความสนใจของเขาปรากฏอยู่ในรองเท้าไนกี้คราฟต์ มาร์ส ยาร์ด 2.0 และรุ่นก่อนหน้าด้วย วัสดุต่างๆ ที่แซกซ์เลือกใช้เป็นวัสดุแบบเดิม ไม่มีการย้อมสีแต่อย่างใด และแน่นอนว่าแซกซ์ใส่ดอกไม้ (ลายเซ็นในงานสร้างสรรค์ของเขา) ไว้ทั้งที่แถบช่วยในการสวมใส่ด้านส้นเท้าและที่ตราสัญลักษณ์ของไนกี้

ผมชื่นชมความไม่สมบูรณ์แบบต่างๆ อย่างการใช้ส่วนกลางพื้นรองเท้าที่ผลิตจากพอลิยูรีเทนที่ไม่ผ่านการปรับแต่งใดๆ เลยเป็นสิ่งสะท้อนถึงการใช้งานอย่างยาวนาน รองเท้ารุ่นนี้เป็นสื่อที่สะท้องถึงประสบการณ์อย่างยาวนาน แม้แต่ส่วนลิ้นรองเท้าก็มีการทำรอยแตกให้ดูเก่า”

แซกซ์เล่า “หลายๆ คนแสดงรอยแผลเป็นอย่างภาคภูมิใจ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราใช้วัสดุต่างๆ ตามสภาพธรรมชาติของมัน เพราะเราใช้วัสดุเหล่านี้เป็นเครื่องบอกเล่าเรื่องราว หลายๆ คนทำให้รองเท้าสกปรกไวๆ เพื่อบอกว่า ฉันใส่รองเท้าของฉันจริงๆ ฉันใช้ชีวิต และนี่คือหลักฐานการใช้ชีวิตของฉัน


 

 

ภาพ : Twitter@tom_sachs

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up