ขั้นตอนฉลุลายเฟื่องผ้าทองย่น ศิลปะงานช่างไทย ทำสุดฝีมือเพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9

ศิลปะฉลุลายเฟื่องผ้าทองย่น สาบสีสอดแวว อีกหนึ่งงานศิลปะฝีมือช่างไทยที่มีความสำคัญ ซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในการตกแต่งสถาปัตยกรรมต่างๆ ของพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ศิลปะการฉลุลายเฟื่องผ้าทองย่น สาบสีสอดแวว ถือว่าเป็นงานศิลปะแบบชั่วคราว ซึ่งเป็นงานศิลปะที่ถอดแบบมาจากการปิดทองประดับกระจก เป็นการใช้ผ้าทองย่นฉลุลายและใช้กระดาษสีต่างๆ วางทับที่ด้านหลังของตัวลาย ซึ่งเทคนิคนี้เรียกว่าการสาบสีสอดแววนั่นเอง

ทั้งนี้ขั้นตอนของการฉลุลายเฟื่องผ้าทองย่นนั้น เป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดลออ บวกกับสมาธิอย่างมาก เนื่องจากตัวผ้าเป็นการทอด้ายแบบเส้นต่อเส้น เสี่ยงต่อการหลุดรุ่ยง่ายมาก จึงต้องมีการทำแบบและยึดเข้ากับผืนผ้าให้ตึงที่สุด จากนั้นช่างจะใช้สิ่วในการฉลุลาย ซึ่งการลงน้ำหนักและการเลือกใช้สิ่วแต่ละขนาดจะต้องมีความเที่ยงตรงและแม่นยำอย่างมาก

ผ้าทองย่นที่จะใช้ในการฉลุลายเฟื่อง ก่อนนำไปสาบสีสอดแวว สำหรับประดับภายในพระที่นั่งทรงธรรม
ขั้นตอนการขึ้นแบบ ก่อนจะลงมือฉลุลาย ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องทำอย่างประณีตที่สุด
อุปกรณ์ในการฉลุลายผ้าทองย่น ยังคงใช้วิธีแบบดั้งเดิมด้วยฝีมือช่างไทยจากอยุธยา
หลังจากลงสิ่วฉลุลายแล้ว เนื้อลายจะโดดเด่นขึ้นตามภาพ
ลายเฟื่องผ้าทองย่นที่ทำการฉลุเรียบร้อยแล้ว โดยตัวอย่างนี้จะเป็นส่วนที่จะนำไปประดับบริเวณหัวของคาน ภายในพระที่นั่งทรงธรรม

หลังจากที่ช่างได้ฉลุลายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการใช้เทคนิคพิเศษที่เรียกว่า สาบสีสอดแวว ซึ่งเป็นเทคนิคที่ประยุกต์มาจากการปิดทองประดับกระจก ก่อนที่จะรองด้วยแผ่นไม้อีกชั้น เพื่อสะดวกต่อการนำไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ที่ได้วางไว้

กระดาษสีที่ใช้ในการทำเทคนิคสาบสีสอดแวว โดยจะติดทับที่ด้านหลังของลายเฟื่องผ้าทองย่น
ลายเฟื่องผ้าทองย่นที่ถูกนำไปติดกับกระดาษสีต่างๆ จนเกิดลวดลายเด่นชัด แวววาวสวยงามขึ้นมาก
ชิ้นนี้สำหรับประดับที่บริเวณหัวเสาภายในพระที่นั่งทรงธรรม
ชิ้นนี้จะถูกนำไปต่อเป็นลายทางยาว สำหรับประดับที่คาน ภายในพระที่นั่งทรงธรรม
หลังจากต่อลายแล้วก็จะสวยงามดังภาพ

ภายในพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังช่วยกันตกแต่งในส่วนของเพดานและเสาให้เสร็จสมบูรณ์
ภาพหลังจากที่ทำการติดผ้าทองย่นลายเฟื่องเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ศิลปะการฉลุผ้าทองย่น สาบสีสอดแวว ยังได้ถูกนำไปใช้ในการประดับตกแต่งพระเมรุมาศอีกด้วย

 

*เกร็ดความรู้เกี่ยวกับพระที่นั่งทรงธรรม*

พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารสำหรับพระมหากษัตริย์ประทับทรงธรรม ทั้งยังเป็นอาคารที่ไว้สำหรับเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชวงศ์ต่างประเทศ พระราชอาคันตุกะ ที่จะเดินทางมาเข้าร่วมในงานพระราชพิธี พระที่นั่งทรงธรรมเป็นอาคารตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง ขนาดกว้าง 44.50 เมตร ยาว 155 เมตร รองรับได้ประมาณ 2,800 ที่นั่ง

นอกจากนี้ยังมีห้องทรงพระสำราญสำหรับเป็นที่ประทับพักของพระบรมวงศานุวงศ์ ห้องพักรับรองสำหรับพระสงฆ์และบุคคลสำคัญที่เข้าเฝ้าฯบนพระที่นั่งทรงธรรม ห้องสุขา ห้องส่งสัญญาณในการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธี ห้องพักสำหรับทหารมหาดเล็ก เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้พระที่นั่งทรงธรรมถือเป็นอีกหนึ่งอาคารประกอบพระราชพิธีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยภายในนอกจากจะมีการประดับตกแต่งด้วยผ้าทองย่นฉลุลายเฟื่องแล้ว บริเวณผนังภายในอาคารยังได้มีการประดับภาพจิตรกรรมฝาผนังจากฝีมือของจิตรกรของสำนักช่างสิบหมู่ โดยเรื่องราวของภาพทั้งหมดจะเกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร กว่า 4,000 โครงการ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อชาวไทยตลอด 70 ปี

 

เรื่อง : SRIPLOI

ภาพ : SRIPLOI / Myo Duangporn

Praew Recommend

keyboard_arrow_up