“รื่มรมย์ศิลป์แห่งมายาใน “เดอะวิสดอมโชว์ งามวิวัฒน์รัตนโกสินทร์”

ยิ่งใหญ่ตระการตากับที่สุดของศิลปะการแสดง  “เดอะวิสดอม โชว์  งามวิวัฒน์รัตนโกสินทร์”  จากฝีมือการสร้างสรรค์ด้านการแสดงและดนตรีจากศิลปินชั้นแนวหน้าของประเทศไทย กำกับและออกแบบการแสดงโดย คุณสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา

บรรเลงเพลงโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อำนวยเพลงและเรียบเรียงเสียงประสานโดยคุณทฤษฎี ณ พัทลุง พร้อมด้วยศิลปินนักร้องชั้นนำที่มาร่วมแสดง อาทิ ชรัส เฟื่องอารมณ์, ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล, ปนัดดา เรืองวุฒิ, ตู่ ภพธร สุนทรญาณกิจ, พิจิกา จิตตะปุตตะ

โดยทั้งหมดเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่ไล่เรียงมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์จนถึงยุคปัจจุบัน  ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ได้แก่

1. “เห่เรือ”
การเห่เรือ ราชประเพณีที่สะท้อนภาพชีวิต ขนบประเพณี ความเชื่อ การละเล่น ผสมผสานกันอย่างลงตัว การเห่เรื่อจะกระทำในโอกาสที่พระมหากษัตริย์ทรงเสด็จพระราชดำเนินกระบวนพยุหยาตราชลมาคร หรือการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ ในครั้งนี้เป็นการแสดงเห่เรือจากบทพระนิพนธ์ของพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

2. “ระบำดาวดึงส์”
ระบำดาวดึงส์ คำร้องจากพระนิพนธ์ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เป็นการแสดงมาตรฐานอันหนึ่งของไทย ทรงนิพนธ์บทร้องขึ้นประกอบการแสดงในบทละครดึกดำบรรพ์เรื่องสังข์ทอง เนื้อร้องพรรณนาถึงความงดงาม ความโอฬารของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และความมโหฬารตระการตาในทิพย์สมบัติของพระอินทร์ ตลอดจนความงดงามของเหล่าเทวดานางฟ้าในสรวงสวรรค์

3. “มหาธีรราชเจ้า”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านภาษาศาสตร์ ทรงใช้ศาสตร์การละครสร้างประโยชน์เพื่อส่วนรวม อีกทั้งได้ทรงนำบทกวีที่เป็นผลงานจากกวีเอกของโลกมาแปลเป็นภาษาไทยได้อย่างสละสลวย เข้าใจง่าย โดยยังคงความเดิมได้ไว้ไม่เปลี่ยน การแสดงชุดนี้เป็นการแสดงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากส่วนหนึ่งของบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

4. “คลื่นกระทบฝั่ง”
ด้วยพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง โดย นำเพลงคลื่นกระทบฝั่ง 2 ชั้น ของเก่า มาทรงขยายใหม่ให้เป็นเพลง 3 ชั้น พร้อมทั้งได้ทรงนำเอาแนวการประพันธ์เพลงแบบสากล โดยใช้เทคนิคลูกล้อ ลูกขัด เข้ามาผสมผสานด้วย ทำให้มีความไพเราะเป็นพิเศษ ผู้ฟังเกิดมโนภาพ นึกถึงระลอกคลื่นในท้องทะเลที่หนุนเนื่องกัน

5. “มาลานำไทย”
หลังภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมครั้งใหญ่ที่กำหนดการดำรงชีวิตใหม่เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะการแต่งกาย ในยุคนั้นรัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชนสวมหมวก เพื่อแสดงความเป็นอารยะของชาติไทย การแสดงนี้นำย้อนเวลาไปในช่วงที่บ้านเมืองเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงผ่านบทเพลงสวมหมวก และบทเพลงการประพันธ์ของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ

6. “รำวงมาตรฐาน”
สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการละเล่นรื่นเริงประจำชาติ ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรปรับปรุงรำโทนเสียงใหม่ให้เป็นมาตรฐาน มีการแต่งเนื้อร้อง ทำนองเพลงและนำท่ารำจากแม่บทมากำหนดเป็นท่ารำเฉพาะแต่ละเพลงอย่างเป็นแบบแผน การแสดงนี้ได้นำเพลงที่ใช้ในรำวงมาตรฐานมาบรรเลง ได้แก่ งามแสงเดือน รำสิมารำ ยวนย่าเหล และดวงจันทร์วันเพ็ญ

7. “สุนทราภรณ์”
บทเพลงที่ขับกล่อมจิตใจของคนในยุคก่อนได้เป็นอย่างดี เอกลักษณ์การประพันธ์เพลงของครูเอื้อ สุนทรสนาน ผนวกกับการขับร้อง และการบรรเลงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ที่ไม่มีใครสามารถเทียบเทียมได้ ถือเป็นบทเพลงของคนไทยในยุคสมัยรัชกาลที่ 9 อย่างแท้จริง เพลงที่ใช้บรรเลงในการแสดงชุดนี้ ได้แก่ นางฟ้าจำแลง มองอะไร ศรรัก พรานล่อเนื้อ พรหมลิขิต และชื่นชีวิต

8. “ดนตรียุค 70”
กาลเวลาที่ผ่านไปทำให้การฟังเพลงของยุคต่างๆ มีวิวัฒนาการมากขึ้น โดยมีรากฐานมาจากเพลงสุนทราภรณ์ เพลงลูกกรุง และได้รับอิทธิพลอีกส่วนมากจากเพลงสากลของอีกซีกโลกหนึ่ง จนกลายเป็นดนตรียุค 70 แม้ลักษณะของดนตรีที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังมีคำร้องที่ไพเราะงดงาม มีความหมายกินใจผู้ฟังเป็นอย่างดี เพลงที่ใช้บรรเลงในการแสดงชุดนี้ ได้แก่ ทัศนาจร ทะเลไม่เคยหลับ และเป็นไปไม่ได้ ก่อนจะปิดท้ายด้วยเพลง “แผ่นดินของเรา” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นที่หลอมรวมจิตใจของคนไทยทุกคน

Praew Recommend

keyboard_arrow_up