ความสำเร็จไร้ขีดจำกัด คุยนอกสนามกับหญิงเก่งรอบด้าน กวาดสถิติไตรกีฬานับไม่ถ้วน

เข้าสู่โลกการทำงานมาเป็นเวลา 7 ปี หลังสำเร็จการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันชีวิตของสาวเก่งวัย 26 ปี “ญี่ปุ่น-ปภาวี อัศวดากร” ไม่ได้มีเพียงเส้นทางการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนตามแบบอาชีพของเธอเท่านั้น แต่เส้นทางที่เธอเลือกเพิ่มให้วิ่งตีคู่ไปข้างหน้าด้วยกัน ก็คือเส้นทางสายกีฬาที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ ต้อง “ว่าย-ปั่น-วิ่ง” 3 อย่างในการแข่งขันเดียวตามฉบับนักไตรกีฬา

เพราะสุขภาพที่ดีต้องควบคู่ไปกับการใช้ชีวิต เมื่อถึงจุดที่ทำงานแล้วพบว่าสุขภาพเริ่มเดินถอยหลัง อ่อนเพลียง่ายก็เป็นสัญญาณที่ทำให้สาวร่างเล็กชื่อน่ารัก “ญี่ปุ่น-ปภาวี อัศวดากร” ลุกขึ้นมาจัดแจงวางแผนให้กับชีวิตตัวเอง ซึ่งเส้นทางสายกีฬาอย่าง “ไตรกีฬา” ที่เธอเลือกมานั้นก็มาจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ถูกปลูกฝังมาจากครอบครัว ความชอบและกิจกรรมที่ทำมาตั้งแต่สมัยเรียน จนปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เธอกลายเป็นนักไตรกีฬาที่ประสบความสำเร็จจากการแข่งขันตามรายการต่างๆ รวมถึงคว้าถ้วยรางวัลมาครองได้สำเร็จ

กว่าชีวิตที่ลงมือทำหลายด้านจะสำเร็จแบบนี้คงไม่ได้มีเพียงเรื่องถ้วยรางวัลที่น่าสนใจเท่านั้น แต่วิธีการจัดการ วางแผนชีวิต ไลฟ์สไตล์ส่วนตัว รวมถึงประสบการณ์ระหว่างทางที่คุณญี่ปุ่นพบนั้นก็ล้วนเป็นเรื่องน่าสนใจ และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตยุคใหม่ได้ไม่น้อย วันนี้เราจึงจะพาไปนั่งคุยกับเธอภายใต้บรรยากาศสบายๆ ที่ร้าน The Hen and The Egg ย่านหลังสวน

เริ่มต้นมาเป็นนักกีฬา แข่งไตรกีฬาได้อย่างไร เพราะคุณญี่ปุ่นก็มีงานประจำที่ต้องรับผิดชอบด้วย

ญี่ปุ่น: ตอนญี่ปุ่นจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใหม่ๆ ก็เริ่มทำงานเลย ตอนนั้นยุ่งมาก เราไม่ค่อยได้มีเวลาออกกำลังกายเท่าไหร่ จริงๆ ก็เสียดายนะแต่เราก็ทุ่มเทกับงานมากเพราะเป็นงานแรก เสร็จแล้วพอทำงานไป 3 ปี เราอยากได้ Work-Life Balance ที่ดีขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าพอเราไม่ได้ออกกำลังกาย สุขภาพเริ่มแย่คือน้ำหนักอาจจะขึ้น รู้สึกว่าเหนื่อย เพลียง่าย ขึ้นบันไดก็เหนื่อย เราก็เลยกลับมาเริ่มดูแลตัวเอง

พอดีโชคดีที่ตัวเองมีพื้นฐานด้านกีฬาอยู่แล้วตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่ Shrewsbury International School ก็เป็นนักกีฬาอยู่ 6 ทีม เราเลยกลับมาเล่นกีฬาได้ง่ายขึ้น พอเราเปลี่ยนงาน แล้วงานนี้มันมี Work-Life Balance ที่ดีขึ้น คือเลิกงาน 6 โมง 6 โมงครึ่งอย่างนี้ค่ะ ก็เลยหันไปออกกำลังกาย เพื่อนๆ ก็ชวนมาขี่จักรยาน ตอนนั้นก็ไปปั่นจักรยานทั้งที่เขาใหญ่ ที่ Sky Lane ที่ตอนนั้นสนามเขียวเปิดแล้วรอบสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วก็เริ่มปั่นจักรยานมาปีนึง ก็มีเพื่อนๆ อีกแก๊งหนึ่งเล่นไตรกีฬา เขาก็ชวนเรามาเล่นไตรกีฬาไหม สนุกดีนะ ว่าย ปั่น วิ่ง เราก็มีพื้นฐานทั้ง 3 กีฬาอยู่แล้วก็โชคดี ก็เลยเริ่มกลับมาซ้อมกับกลุ่มนี้ชื่อว่า กลุ่ม Ironguides มีคนไทย 30 คนเล่นไตรกีฬาหมด หลายเลเวลเลยนะทั้ง Beginner Intermediate advanced ก็มาซ้อมด้วยกัน ตอนนี้ก็กลับมาซ้อมได้ 3 ปีแล้วค่ะ แล้วก็เริ่มแข่งมาเรื่อยๆ

เหตุผลที่เล่นต่อเนื่องมาหลายปี

ญี่ปุ่น: เหตุผลที่เล่นต่อเนื่องเนี่ย ส่วนหนึ่งเพราะมีเพื่อนเล่นแล้วมันสนุก แต่ละคนก็ช่วยกระตุ้นกันและกัน เป็นกำลังใจให้กันและกันในการซ้อม ผนวกกับการมีโค้ชส่ง Training Plan มาให้เรา คอยดูว่าแผนไหนเหมาะกับเรา มันก็ทำให้เราเร็วขึ้น เหนื่อยน้อยลงในเวลาเท่าเดิม มันก็ทำให้เรามีกำลังใจจากเพื่อน กำลังใจจากโค้ชที่ดี ตารางซ้อมที่ดี ทำให้เราแข็งแรงขึ้น น้ำหนักลด แล้วก็ทำเวลาเร็วขึ้นได้ ตอนแข่งครั้งแรกไม่ได้ถ้วยนะ ได้อันดับแย่ๆ เลย (หัวเราะ) พอเราซ้อมได้ประมาณ 2 เดือน เริ่มไปแข่งแมทช์แรกได้ที่ 2 ก็ฮึย! กำลังใจมา ดีใจมากเลยคือซ้อมมา 2 เดือน แล้วก็ได้ถ้วยด้วย ก็เลยฝึกฝนเรื่อยๆ มา ตอนแรกก็ซ้อม 6 วันต่อสัปดาห์ก่อน จนถึงตอนนี้ก็ซ้อม 7 วันต่อสัปดาห์ คือซ้อมทุกวันเลย “จริงๆ ได้ถ้วยมาก็เหมือนเป็นโบนัสอ่ะเนอะ แต่ที่แน่ๆ เราได้เพื่อน เราได้สุขภาพที่ดีขึ้น จึงเล่นได้มาต่อเนื่อง”

เล่นกีฬามาตั้งแต่เด็กแบบนี้ เพราะสไตล์ครอบครัวเล่นกีฬาด้วยหรือเปล่า

ญี่ปุ่น: อ้า เป็นคำถามที่ดีเพราะว่าบางคนเนี่ย ครอบครัวไม่เล่นกีฬาเลย แต่ว่าญี่ปุ่นอาจจะโชคดีเพราะว่าคุณพ่อเคยเป็นนักแบดฯมาก่อน ตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่อก็สอนแบดมินตันเราตั้งแต่ 5-6 ขวบ เขาก็สอนให้เราจับไม้ ตีๆ ดู เราก็พลาดบ้าง อะไรบ้างแต่เขาก็สอนเราจนเรามีพื้นฐาน คือสอนหลายๆ อย่างนะ เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกจะชอบอะไร จะชอบเหมือนเขาไหม หรือจะชอบแบบอื่น เขาก็ให้เรียนตั้งแต่ดนตรี กีฬา ศิลปะ เรื่องศิลปะเราก็ชอบ แต่ว่าดนตรีเนี่ย เราไม่ค่อยชอบ (หัวเราะ) พ่อแม่ก็เริ่มรู้ละว่าลูกเนี่ยน่าจะมาทางสายกีฬา เขาก็เลยให้เราไปเรียนว่ายน้ำ เล่นบาส เล่นแบด เรียนเทนนิสอะไรอย่างนี้ค่ะ แล้วเราก็มาชอบแนวแบดมินตัน ว่ายน้ำ ก็เลยเล่นตั้งแต่เด็กจนโตเลย แล้วก็เล่นกับน้องชาย คุณพ่อก็มีพื้นฐานกีฬาอยู่บ้าง ก็เลยทำให้เรารู้สึกชอบกีฬาไปด้วย แล้วก็มีพื้นฐานที่ดีจากการที่เขาปลูกฝังให้เราเรียนคลาสกีฬาต่างๆ ตั้งแต่เด็ก

จากเล่นไตรกีฬาตามปกติ แล้วเข้ามาอยู่ในกรุ๊ป Exclusive Triathlon by CIMB Preferred ที่เขาส่งไปแข่งขันในรายการต่างๆ ได้อย่างไร

ญี่ปุ่น: เริ่มจากเล่นไตรกีฬากับกลุ่ม Ironguides มาก่อนประมาณ 2 ปีกว่า แล้วพี่อู๋เป็นคนชวนเข้ามากลุ่ม CIMB Preferred มีพี่อู๋กับพี่รุจที่เขาอยู่ CIMB ทั้งคู่ ก็ชวนร่วมลงทุนด้วยและได้เข้าร่วม Training Camp ไตรกีฬาเราก็สนใจในด้านของการลงทุนอยู่แล้วเพราะว่าเราจบด้านการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีที่ธรรมศาสตร์ รวมถึงเรื่องของการรู้จักคนใหม่ๆ ที่อยู่ในวงการของด้านไตรกีฬาที่เขาก็สนใจด้านการลงทุน มันก็รู้สึกว่านี่เป็นการผสมผสานกันที่ดีเนอะ ทั้งได้เพื่อนใหม่และก็ได้คุยกันเรื่องลงทุน แล้วก็มาเล่นไตรกีฬากับคนใหม่ๆ มีทั้งคนที่ไม่เคยเล่นไตรกีฬามาก่อนเลย เพิ่งมาเล่นครั้งแรกก็เลยลองเข้าร่วมโปรแกรมนี้ดู ก็มีประมาณ 2-3 เดือน สนุกดี ได้เพื่อนใหม่ด้วย ได้เล่นกีฬาด้วย

แบ่งเวลาออกกำลังกายอย่างไร เพราะออก 7 วันต่อสัปดาห์เลย

ญี่ปุ่น: ดูเป็นคนบ้าพลังเลย (หัวเราะ) ก็ออกก่อนทำงานแล้วก็หลังเลิกงาน ทำอย่างนี้ประมาณ 5 วันต่อสัปดาห์ คือตอนเย็นทุกวันแน่นอน แต่ว่าอาจจะวันอังคารถึงวันศุกร์ที่ซ้อม 2 มื้อก็คือ ทั้งก่อนเข้างานและหลังเลิกงานด้วย ทีนี้ซ้อมทุกวัน การซ้อมต่างกันหรือเปล่าก็ไม่เชิง เพราะโค้ชเราเขาจะมีแพลนทุกเดือน ทุกๆ อาทิตย์ไม่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยเราต้องว่ายน้ำ 2 วัน ปั่นจักรยาน 2 วัน วิ่ง 2 วัน แล้วก็อาจจะมีปั่นเสร็จแล้วลงมาวิ่ง เพื่อเวลาเราแข่งไตรกีฬา เราจะได้คุ้นเคยกับการทำ 3 อย่างต่อเนื่องกันเลย คือว่ายแล้วมาปั่น แล้วมาวิ่ง ถ้าเราซ้อมแยกกัน เราอาจจะไม่คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากปั่นไปวิ่ง มันใช้กล้ามเนื้อคนละส่วน เราจะทำยังไงให้ปั่นเสร็จแล้ว แล้วลงมาวิ่งได้อย่างต่อเนื่อง

ช่วงซ้อมหรือแข่งขัน เคยเจอสภาวะร่างกายไม่พร้อมไหม มีวิธีจัดการปัญหาตรงนั้นให้ผ่านไปได้อย่างไร

ญี่ปุ่น: มี ตอนแรกเราไม่มั่นใจเลย คือเราขาดซ้อมเพราะงานยุ่งจริงๆ แล้วก็ขาดซ้อมตามตารางไปเยอะแบบโอ้โห 3 วันบ้าง  5 วันบ้าง หรือหลายๆ ครั้งเราซ้อมได้ไม่ครบตามที่โค้ชบอกอย่างนี้ค่ะ บางทีไปทำงานที่สิงคโปร์แล้วก็กลับมาด่วน แล้ววันรุ่งขึ้นต้องแข่งเลยอย่างนี้ เราก็พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่ร่างกายเราไหวในวันนั้นๆ เราก็ควรจะดีใจนะที่ว่าวันนี้เราทำเต็มที่ เราแข่งเต็มที่ ไม่ว่าผลจะออกมายังไง เราทำเต็มที่แล้ว ในกรณีถ้าวันนั้นเรานอนไม่พอจริงๆ เพราะว่างานเข้าแล้วก็ซ้อมไม่ทันทั้งอาทิตย์นั้นเลย หรือญี่ปุ่นเคยไม่สบาย เป็นไซนัสอักเสบ คุณหมอเขาห้ามว่ายน้ำ แล้วเป็นหวัด ไม่สบายด้วย เขาก็ห้าม หยุดไปเลย 2 อาทิตย์กว่า ฟิตเนสมันก็จะตกไป ก็แบบว่าฮึ่ย! ตอนนั้นทำยังไงดี แล้วต้องแข่งแล้ว ใกล้เวลาแข่งแล้ว รายการแข่งใหญ่ด้วย โค้ชเขาก็ให้กำลังใจแหละว่า มันทำอะไรไม่ได้แล้ว (หัวเราะ) ก็สู้เต็มที่ในสิ่งที่เราทำไหว สุดท้ายก็ใช้ได้ คือผลไม่ได้ออกมาดีเท่าที่โค้ชหรือเราคาดหวังไว้ แต่ว่าเราภูมิใจที่เราทำได้ดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ แล้วอย่างนี้ค่ะ

ได้ไปแข่งทั้งในและนอกประเทศ เรื่องคน บรรยากาศแตกต่างกันมากไหม

ญี่ปุ่น: เออๆ ตอนแรกก็แข่งในประเทศก่อนเนอะ จนเพื่อนก็ชวนไปเวียดนาม ชวนไปอินโดนีเซีย ชวนไปฟิลิปปินส์ บรรยากาศแตกต่างกันมาก คือยิ่งสนามต่างประเทศเราก็ไปกันกลุ่มใหญ่ขึ้น เพื่อนเราก็เช่ารถบัสไปที่สนามแข่ง แล้วก็อยู่โรงแรมเดียวกัน เหมือนไปเที่ยวและไปแข่งในทริปเดียวกัน มันก็สนุกไปอีกแบบ แล้วก็ได้เห็นคอร์สที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งทะเล คอร์สปั่น ทางวิ่งที่ไม่เคยเห็น อากาศที่เราไม่เคยเจอ อาจจะร้อนมาก ชื้นมาก มันก็เหมือนเป็นอุปสรรคใหม่ๆ แล้วก็เป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่เราจะไปเจอ ทั้งเพื่อนใหม่ด้วย ทั้งผู้จัดงาน ออแกไนเซอร์แต่ละคน เขาก็จัดไม่เหมือนกัน คนละแนว ทั้งของที่ระลึก สินค้าที่ขายในงานเอ็กซ์โปรก็ต่างกัน มันก็สนุกดี

คือถ้าแข่งในเมืองไทย ก็แน่นอนคนไทยเยอะ มีตั้งแต่ 2-3 ร้อยจนไปถึงพันคน แล้วก็อยู่ในบ้านเรา เราก็คุ้นเคยกับสถานที่และอากาศอยู่แล้ว เราก็จะมั่นใจมากขึ้นแล้วการเดินทางเราก็ง่ายมากขึ้น แต่ปีๆ หนึ่งเราอาจจะไปแข่งเมืองนอกสักประมาณครั้ง 2 ครั้งเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ มันก็เป็นการบาลานซ์ทั้งแข่งในเมืองไทยและแข่งในเมืองนอกอ่ะเนอะเพราะเมืองนอกก็ค่าใช้จ่ายสูง

แข่งมาหลายรายการ มีครั้งไหนที่ประทับใจเป็นพิเศษไหม

ญี่ปุ่น: ประทับใจเหรอ อาจจะเป็นงานแข่ง 70.3 คือเป็นพาร์ท Ironman ครั้งแรก เป็นระยะไกลที่สุดเท่าที่ญี่ปุ่นเคยแข่งมา ว่ายน้ำ 1,900 เมตร ปั่นจักรยาน 90 กิโลเมตร ตามด้วยวิ่งมาราธอน 21 กิโลเมตร เป็นครั้งแรกแล้วเราทำได้เวลาค่อนข้างดีคือ 5 ชั่วโมงครึ่ง เราก็เลยรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี เพิ่มความมั่นใจว่าเราสามารถไประยะไกลขึ้นได้แล้ว เป็นความท้าทายขึ้นอีกระดับหนึ่ง เรารู้สึกว่าเราพัฒนาและก็ได้ท้าทายตัวเองว่า พัฒนาได้ขนาดนี้แล้ว ทำได้ขนาดนี้แล้วก็ดีใจค่ะ

แข่งแต่ละครั้ง มีความคาดหวังไหมว่าเราจะต้องได้รางวัลนี้ๆ

ญี่ปุ่น: ก็จริงๆ คาดหวังไหม เราอาจจะมีเป็นเป้าหมายมากกว่า ถ้าเราอยากได้โพรเดี่ยม เราต้องซ้อมหนักขนาดนี้ เราถึงจะมีลุ้นโพรเดี่ยมได้ แต่ว่า ณ วันแข่งจริงๆ แล้ว เราไม่ได้คิดถึงโพรเดี่ยมเลย เราไม่ได้คิดถึงเงินรางวัล เราไม่ได้คิดถึงว่าเราจะต้องได้ที่ 1 คือเราลืมไปแล้วว่าโกวล์เราเป็นยังไง แต่เรารู้ว่าเราซ้อมมาเต็มที่ แล้วเราจะทำให้ดีที่สุดในวันนี้ ไม่ว่าผลจะเป็นยังไง ถ้าเราทำเต็มที่แล้วเราก็จะภูมิใจกับมัน จริงๆ มันมีหลายปัจจัยนะ ที่มันจะมากำกับเราในวันนั้นอย่างเช่นว่า เรื่องอากาศ ยางแตก ยางแบน มีคนอื่นเขาแข็งแรงมากกว่า เขาซ้อมหนักกว่าเราอย่างนี้ มันก็เป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ว่าที่ทำได้แน่ๆ คือเราทำให้ดีที่สุด แล้วเราก็บอกตัวเองว่าอย่าหยุด คือวิ่งไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหน อูย..ไม่ไหวแล้ว อากาศร้อน ถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่ามีคนรุ่นอายุเดียวกับเราอยู่ข้างหน้าเรา แซงเราไปหมดแล้ว แต่เราก็ต้องพยายามให้ถึงที่สุด แล้วเราก็อย่าหยุด เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าเราทำเต็มที่แล้ว ผลไม่ว่าจะเป็นยังไง เราก็จะแฮ้ปปี้กับมัน

ถามถึงงานประจำปัจจุบันกันบ้าง

ญี่ปุ่น: ญี่ปุ่นทำตำแหน่งผู้จัดการส่วนฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการลงทุนที่สยามพิวรรธน์ค่ะ ทำมา 3 ปีครึ่ง สยามพิวรรธน์ก็เป็นเจ้าของสยามพารากอน สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์เนอะ เราก็ทำหน้าที่ในส่วนของนำธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาในเมืองไทย อย่างเช่น ปีหน้าโครงการใหม่ของเรา ไอคอนสยามจะเปิด เราก็หาผู้เช่ารายใหญ่อย่างเช่น ห้างทาคาชิมาย่า (Takashimaya) จะมาเปิดสาขาแรกในเมืองไทย เอามาจากสิงคโปร์ เราก็จะคุยกับทาคาชิมาย่าที่สิงคโปร์ เจรจาเรื่องสัญญาต่างๆ ทำเรื่องไฟแนนเชียลโมเดลว่า ธุรกิจนี้ทำไปรอดไหม ต้องมีการลงทุนเท่าไหร่ จะทำรายได้เป็นอย่างไรบ้าง ก็ช่วยๆ ดู ทำตั้งแต่เจรจาสัญญาจนเปิดธุรกิจร่วมกัน ก็เดี๋ยวปีหน้าก็จะเปิดแล้วก็เหมือนจะประสานงานให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีค่ะ

เดินทางบ่อยแบบนี้ ปกติเป็นคนไลฟ์สไตล์ชอบใช้เงิน จัดการเรื่องเงินอย่างไร

ญี่ปุ่น: จริงๆ ญี่ปุ่นอยากจะบอกว่าไม่รู้คนอื่นเป็นยังไง ปกติเขามีกฎอะไรนะ ให้เก็บ 30%  อย่างน้อยเป็นเงินเก็บใช่ไหม แต่ญี่ปุ่นกลับกัน 70% จะเป็นเงินเก็บ (หัวเราะ) คือญี่ปุ่นจบไฟแนนซ์มา ญี่ปุ่นชอบในเรื่องของตัวเลข แล้วก็เรื่องวางแผนทางการเงินมาก ประมาณว่าชอบลงทุน แต่ว่าเป็นคนที่ไม่ได้เสี่ยงเยอะ เคยลงหุ้นแต่ว่าอาจจะขาดทุนมาบ้าง แต่พอเราผ่านจุดนั้นมาเราจะระวังในการลงทุนมากขึ้น เรารู้สึกว่าเรายังอายุน้อย กล้าได้ กล้าเสี่ยงอยู่ก็ลงทุนหุ้นเยอะ แต่ว่าตอนนี้หันมาเป็นกองทุนหุ้นแล้ว แล้วก็ฝากประจำส่วนตัว ฝากออมทรัพย์ส่วนนึง

อย่างลงทุนกับ CIMB Preferred เขาก็ช่วยดูแลให้เรา คือเราลงทุน 3 ล้านบาท เขาก็ช่วยดูแลพอร์ทลงทุนให้เรา ตั้งแต่เราลิสต์โปรไฟล์เป็นยังไง เรารับความเสี่ยงได้มากขนาดไหน ถ้าเรารับความเสี่ยงได้ไม่มาก เขาก็จะแนะนำในส่วนฝากประจำ 6 เดือน ไปจนถึงกองทุนตราสารหนี้ หุ้นกู้อะไรอย่างนี้ค่ะ จะมีความเสี่ยงต่ำหน่อย แต่ว่าได้ผลตอบแทนมากกว่าออมทรัพย์ทั่วไป คือตอนนี้ออมทรัพย์ได้ดอกเบี้ยน้อยมาก แค่ 0.5 เปอร์เซ็น เราก็เลยหันมาลงทุนตรงนี้ เพราะเราก็มีเวลาน้อยเนอะ ทำงานประจำด้วย เราไม่ได้มีเวลาทุกวันที่จะมาตามตลาดว่า ตลาดเป็นยังไง หุ้นเป็นยังไง หรือว่าช่วงนี้คนลงทุนในตราสารหนี้หรือหุ้นมากขนาดไหน ควรลงในไทยหรือในจีน หรือในยุโรป ต่างประเทศ ก็ต้องอาศัย CIMB Preferred หรือผู้จัดการกองทุนมาแนะนำการลงทุนกับเรา

คือเราจบการเงินมา ก็ไม่ได้แปลว่าจะรู้เรื่องของการลงทุน ณ เวลานั้นๆ เพราะเราต้องคอยตามตลาด ตามข่าวอย่างนี้ค่ะ เราก็เลยเลือก CIMB Preferred มาเป็นผู้ช่วยดูแลพอร์ทให้กับเรา และยิ่ง CIMB Preferred มีกิจกรรมเรื่องของไตรกีฬา มีกิจกรรมเรื่องของไตรกีฬา มันก็เหมือนกับว่า แจ็คพอตเลย ตรงกับสิ่งที่เรารักทั้งสองอย่างเลยคือ เรื่องของการลงทุน และเรื่องของการเล่นกีฬาไปพร้อมๆ กัน แล้วก็ได้เพื่อนที่อยู่ในกลุ่ม CIMB Preferred เขามีความสนใจด้านการลงทุนเหมือนกัน เราก็เลยคุยกับเขาได้ทั้งสองเรื่องเลย สมมติว่าเขาลงทุนเก่งกว่าเรา เราก็อยากได้คำแนะนำจากเขาเนอะ ในทางกลับกัน ถ้าเขาต้องการความช่วยเหลือในด้านการกีฬา เราก็ให้คำแนะนำได้ มันก็เหมือนกับว่าเป็นทั้งการแชร์และการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ก็สนุกดี

ตอนนี้อายุ 26 ปี คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จหรือยังกับสิ่งที่เป็นและมีอยู่ หรืออยากพัฒนาตัวเองตรงไหนอีกไหม

ญี่ปุ่น: จริงๆ ญี่ปุ่นอยากพัฒนาต่อเนื่องเนอะ แล้วญี่ปุ่นมีความรู้สึกว่าเราอาจจะสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ว่ามันไม่เชิงว่าเราสำเร็จแล้ว เราเป็นที่ 1 แล้ว แล้วเราหยุดอย่างนี้ เรามีไอดอล ซึ่งไอดอลของเราก็อาจจะรวมถึง CEO ของบริษัท ก็คือคุณชฎาทิพ จูตระกูลค่ะ เป็นผู้หญิงที่มีวิสัยทัศน์ แล้วก็มีความมุ่งมั่นพัฒนาทั้งธุรกิจและองค์กรไปอย่างต่อเนื่อง เราก็มีเขาเป็นไอดอล แล้วก็เจ้านายโดยตรงของเราในแผนก เราก็มองเขาเป็นไอดอล เราก็พยายามพัฒนาตัวเองไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราไม่หยุดนิ่ง จะได้ก้าวหน้าในการงาน แล้วก็พัฒนาสกิลของเราไปในทุกวันด้วย

ถ้าคนภายนอกมองเข้ามาก็จะเห็นมุมคุณญี่ปุ่นเป็นนักกีฬา สาวทำงาน มีมุมหวานๆ สไตล์ผู้หญิงอย่างชอบช้อปปิ้ง ทำอาหารบ้างไหม

ญี่ปุ่น: อ๋อ ก็ชอบนะ (หัวเราะ) จริงๆ ผู้หญิงทุกคนก็ชอบช้อปปิ้ง รักสวยรักงาม ดูเครื่องสำอาง น้ำหอมอย่างนี้ใช่ม๊า แต่ก็แบบมีเวลาน้อยลง เราก็จัดเวลาได้ แต่ว่าจันทร์ถึงศุกร์อาจจะยุ่งกับงานนิดนึง ก็จะใช้เวลาเสาร์-อาทิตย์ ทำผม ทำเล็บ ทำสปา นวดอย่างนี้ จริงๆ ทำอาหารเป็น แต่ว่าไม่ค่อยมีเวลา (หัวเราะ) หวานๆ ไหม อาจจะเป็นแนวนักกีฬา แนวผาดโผนหน่อย (หัวเราะ) เป็นคนชอบผจญภัย ชอบเที่ยว แล้วก็ติดดิน เป็นคนไม่ค่อยยึดติดกับวัตถุเท่าไหร่ แล้วก็สบายๆ  ชิลๆ เวลาเสาร์-อาทิตย์เราก็พักผ่อนอยู่กับครอบครัว อาจจะเป็นแนวไม่ได้ว่าแต่งตัวมาก ชอบเล่นกีฬา ชอบไปเที่ยวทั้งในประเทศและนอกประเทศมากกว่า ไปผจญภัยเจออะไรใหม่ๆ

การที่เราใช้ชีวิตแบบนี้เป็นประจำ เคยมีคนรอบข้างที่อยากจะลุกขึ้นมาออกกำลังกายแบบเราไหม

ญี่ปุ่น: เออๆ จริงๆ ญี่ปุ่นอยากจะจุดประกายให้คนมาออกกำลังกายมากขึ้นเหมือนกัน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ทางอ้อมนี่หมายถึงว่าบางทีคนไม่ชอบให้ชวนทางตรง จะรู้สึกมันสื่อตรงเกินไป อยู่ดีๆ ก็ไปชวนเขาออกกำลังกาย เขาก็จะมีความรู้สึกต่อต้าน ฮึ่ย ไม่เอาอ่ะ ทำไมฉันจะต้องไปออกด้วยอย่างนี้ แต่ถ้าทางอ้อมเราก็อาจจะโพสต์ทางโซเชียลมีเดียว่า การออกกำลังกายมีประโยชน์อย่างนี้นะ จริงๆ คนที่เขาตามเราเรื่อยๆ เขาเห็นเราว่าน้ำหนักเราลดไปประมาณ 3-4 โล แล้วเราดูเฟรชมากขึ้น มีพลังมากขึ้น ดูมีชีวิตชีวาอย่างนี้ค่ะ เขาจะถามว่า เราไปทำอะไรมา เราออกกำลังกายยังไง เราก็บอกไปทางอ้อมว่าเราซ้อมอย่างนี้ เรารู้สึกมีสุขภาพดีขึ้นอย่างไรบ้าง เขาก็เลยรู้สึกว่า เออก็ดีเนอะ เขาก็เหมือนกับว่าอยากจะออกกำลังกายมากขึ้น กระตุ้นให้ตัวเองออกกำลังกาย สมัครยิม เข้าฟิตเนสดีๆ อะไรอย่างนี้ค่ะ

แล้วแต่ละคนเนี่ยมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน บางคนออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ บางคนอยากได้เพื่อน บางคนเพื่อเข้าสังคม บางคนเพื่อ performance คือว่าอยากจะได้โพเดี่ยม อยากจะได้เวลาดีที่สุดอย่างนี้ ไม่ว่าคุณจะเล่นกีฬาอะไร เป้าหมายอะไร คุณก็สามารถเล่นกีฬาได้เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว สุขภาพไม่ได้เป็นอะไรที่เงินซื้อได้ คือไม่ว่าจะรวยขนาดไหน พันล้าน ร้อยล้าน แต่สุดท้ายแล้วถ้าเราสุขภาพไม่ดี เราจะกลายเป็นว่าเราต้องมาดูแลสุขภาพ ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือว่าไปเที่ยว ทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบไม่ได้ มันก็จะไม่มีความสุขเต็มที่อย่างนี้ค่ะ

เป้าหมายในปัจจุบัน และอนาคตต่อจากนี้มีการมองหรือวางแผนชีวิตอย่างไรบ้างคะ

ญี่ปุ่น: ก็จริงๆ กีฬาเนี่ย มันมีหลายเลเวลเนอะว่า เราจะไประยะสั้น หรือจะไประยะยาวเลย ซึ่งระยะยาวยิ่งยาว เราก็ต้องยิ่งซ้อมเยอะ ทีนี้มันก็ต้องดูก่อนว่าเรามีเวลาขนาดไหน ปีหน้าญี่ปุ่นได้เข้าเรียนสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ Executive MBA Programme แล้วอะค่ะ ก็จะเรียน 2 ปี Executive Programe แปลว่าทำงาน full time เหมือนเดิมที่สยามพิวรรธน์ แล้วก็วันศุกร์เย็นกับวันเสาร์ทั้งวันก็ไปเรียนโทที่ศศินทร์ จุฬาฯ ค่ะ ก็หวังว่าจะมีเวลาซ้อมบ้าง แต่ก็คิดว่าต้องลดลงมา อาจจะไปแข่งเมืองนอกค่อนข้างลำบาก เพราะว่าเราเรียนทั้งศุกร์และเสาร์ด้วย แต่อย่างน้อยเราก็อาจจะแข่งที่เมืองไทย ซึ่งมันแข่งทุกวันอาทิตย์ได้ อาจจะเดือนละครั้งหรือว่าเดือนละสองครั้ง ด้วยความโชคดีที่เราชินกับตารางซ้อมแล้ว อาจจะปรับให้ชั่วโมงซ้อมน้อยลง แต่ว่ายังซ้อมที่ความหนักเท่าเดิมอยู่ ที่พอได้ แต่ว่าทุกอย่างยึดปริญญาโทกับงานเป็นหลักก่อน แล้วเราค่อยดูอีกทีว่าตารางเวลาเราจะเป็นยังไง แล้วเราสามารถปรับให้มีการซ้อม 3-4 วันต่ออาทิตย์ ยังพอได้ไหมอย่างนี้ค่ะ

แต่ว่าอยากจะบอกด้วยว่า ทุกอย่างควรจะอยู่ในความพอดี คือออกกำลังกายเยอะไปก็ไม่ใช่ว่าจะมีข้อดี อย่างเช่นว่าบางคนอาจจะเริ่มข้อเท้าพลิก หรือเข่ามีปัญหาได้ บางคนอาจจะไปแข่งทุก 2 อาทิตย์ครั้ง หรือไปทุกเดือน หรือไประยะ Ironman แล้วกลับมาแข่ง Trail หรือแข่งต่อๆ ติดๆ กัน มันก็ทำให้ร่างกายเราโทรม กลายเป็นว่าทำให้เราท้อ แล้วบางคนเลิกเล่นไปเลยนะ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ความผิดโค้ช เพราะว่าโค้ชห้ามแล้วไม่ให้คุณแข่งติด แต่ว่าด้วยความที่งานแข่งมันเยอะ แล้วเขาอยากที่จะสนุก แต่จริงๆ เขาต้องรู้ด้วยว่าร่างกายเราได้ถึงไหน แล้วก็ต้องรู้ความพอดีว่าน้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็ไม่ดี เช่นเดียวกับงาน คือญี่ปุ่นเล่นกีฬาแล้ว ญี่ปุ่นพยายามเอามาปรับกับงาน กับหลายๆ อย่างด้วยว่าทุกอย่างมันต้องมีความพอดี ทุกอย่างมีจังหวะของมัน จังหวะชีวิตของมัน แล้วก็ต้องจัดตารางให้ดี ไม่ว่าจะเรื่องงาน เรื่องครอบครัว เรื่องตัวเอง แล้วก็เรื่องกีฬาเนี่ย ทุกอย่างมันเป็นเรื่องของการจัดการทั้งนั้นเลย

 

เรื่อง: กัญญาวีร์ วิมลรัตน์
ภาพ: Wara Suttiwan
สถานที่: ร้าน The Hen and The Egg ย่านหลังสวน

Praew Recommend

keyboard_arrow_up