ราชรถ ราชยาน

เปิดประวัติศาสตร์และความหมายของ “ราชรถ” และ “ราชยาน”

Alternative Textaccount_circle
ราชรถ ราชยาน
ราชรถ ราชยาน
วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่จะถึงนี้ ในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นอกจากเครื่องประกอบพระอิสริยยศที่ปรากฏในริ้วขบวน อย่างฉัตร เครื่องสูง รูปเทวดา และรูปสัตว์หิมพานต์ ฯลฯ ยังมีราชรถ ราชยาน ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกันในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ซึ่งการอัญเชิญพระบรมศพสู่พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง ประกอบด้วยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ต้องบูรณะและตกแต่งราชรถ ราชยาน ให้พร้อมสำหรับอัญเชิญพระบรมศพ พระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร รวมทั้งซักซ้อมการเคลื่อนขบวนให้งดงามประหนึ่งราชรถเคลื่อนบนหมู่เมฆเพื่อส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์

ราชรถ ราชยาน เป็นหนึ่งในเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงฐานานุศักดิ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งการใช้ราชรถ ราชยาน ในราชสำนักนั้นมีมาตั้งแต่โบราณกาล ปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยอยุธยา และเป็นราชประเพณีสืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในสมัยอยุธยามีหลักฐานกล่าวถึงการใช้ราชรถในพระราชพิธีต่างๆ เช่น การอัญเชิญผ้าพระกฐิน การอัญเชิญพระราชสาสน์จากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อพุทธศักราช 2230 เดิมทีมีโรงเก็บราชรถในพระราชวัง แต่ถูกเพลิงไหม้ไปสิ้นเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 และในสมัยกรุงธนบุรีไม่ปรากฏว่ามีการสร้างราชรถเพื่อใช้ในการพระเมรุ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงเทพฯเป็นราชธานีในพุทธศักราช 2325 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างราชรถขึ้นมา 7 องค์ เพื่อถวายพระเพลิงพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกในพุทธศักราช 2339 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ราชรถ ราชยาน จึงเป็นหนึ่งในเครื่องประกอบในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ที่มา หนังสือธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดงานพระบรมศพ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

ส่วนในเรื่องของความหมายของราชรถ ราชยาน ก็มีความเป็นมาเช่นกัน ดังนี้

ราชรถ หมายถึง พาหนะแห่งพระมหากษัตริย์ ในสมัยโบราณน่าจะพัฒนามาจากเกวียนขนาดเล็กที่นั่งได้เพียงคนเดียว และเทียมด้วยม้าหรือสัตว์อื่น เช่น วัว ลา ล่อ หรือแม้แต่คน ในสมัยโบราณการเดินทางไปในที่ต่างๆ จะใช้พาหนะในรูปแบบต่างๆ ตามฐานะของผู้ใช้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว พาหนะนั้นๆ จะเป็นเครื่องหมายแสดงตำแหน่งทางราชการของผู้เป็นเจ้าของ ราชรถมีทั้งที่เทียมด้วยม้าและลากด้วยกำลังคน ซึ่งราชรถที่เทียมด้วยม้ามักเป็นรถศึก และรถที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้เมื่อเสด็จประพาสในที่ต่างๆ นอกพระราชวัง สำหรับราชรถที่ลากด้วยคนจะมีขนาดใหญ่ และใช้ในการพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีพระบรมศพ

ราชยาน หมายถึง พาหนะสำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ คำว่า ยาน ตามที่บัญญัติไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง เครื่องนำไป หรือพาหนะต่างๆ เช่น รถ เกวียน เรือ เป็นต้น เมื่อนำมาสมาสกับคำว่าราช ซึ่งหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน จึงหมายถึงพาหนะสำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ ได้แก่ ราชรถ (รถพระที่นั่ง) ราชยาน พระคชาธาร (ช้างพระที่นั่ง) ม้าต้น และเรือพระที่นั่ง ราชยานเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ส่วนยานเป็นเครื่องประกอบยศของบุคคลชั้นสูงในสังคมสมัยโบราณ แสดงให้เห็นฐานะและอำนาจอันแตกต่างจากสามัญชนทั่วไป

ที่มา : องค์ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีพระบรมศพ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : kingrama9.th

Praew Recommend

keyboard_arrow_up