หรือนี่คือเหตุผลที่พระบรมราชสรีรางคาร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ต้องแบ่งบรรจุ ๒ วัด

จากข่าวรายละเอียดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่มีการระบุว่า เวลา ๑๐.๓๐ น. ของวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ จะมีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลและเชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระเจ้าแผ่นดินทุกรัชกาล โดยริ้วกระบวนที่ ๕

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ ๕ เชิญพระโกศพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท รวมระยะทาง ๖๓ เมตร ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที

ส่วนเวลา ๑๗.๓๐ น. เป็นพระราชพิธีเชิญพระบรมราชสรีรางคาร(เถ้ากระดูก)ไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร โดยริ้วกระบวนที่ ๖ ซึ่งพันโทหญิงพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงม้านำในริ้วขบวนนี้

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ ๖ ขบวนกองทหารม้า เชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ขบวนกองทหารม้า เชิญพระบรมราชสีรางคาร จากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปบรรจุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
พันโทหญิงพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงม้านำซ้อมขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 6

ทำให้มีบางคนสงสัยว่า เหตุใดพระบรมราชสรีรางคาร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงต้องแบ่งไปบรรจุถึง ๒ วัด

เพราะตามราชประเพณีโบราณ การถวายพระเพลิงพระบรมศพและการบรรจุพระบรมอัฐิ พระบรมราชสรีรางคารนั้น มีธรรมเนียมว่าหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ในวันรุ่งขึ้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จมาทรงเก็บพระบรมอัฐิลงพระโกศด้วยพระองค์เอง โดยจะทรงเก็บพระบรมอัฐิอย่างละชิ้นจนครบพระสรีระ จากนั้นอัญเชิญใส่พระโกศเพื่อไปประดิษฐานที่ “หอเก็บพระบรมอัฐิ” ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

ส่วนพระบรมอัฐิที่เหลือ จะมีทั้งที่ให้พระราชโอรส พระราชธิดา และพระประยูรญาติใกล้ชิดทรงเก็บไปบูชา และให้เจ้าหน้าที่ทำการแปรสภาพเป็นพระบรมราชสรีรางคาร เพื่อนำไปบรรจุยังวัดประจำรัชกาล

ทว่าดังที่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ไทยว่า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล นั่นหมายความว่า นับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาจนถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงไม่มีวัดประจำรัชกาลเป็นของพระองค์

เพราะฉะนั้นการเลือกวัดประจำพระองค์ที่จะเป็นสถานที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารจึงใช้วิธีเลือกเอาวัดที่พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นๆ ทรงมีส่วนเกี่ยวข้อง

และเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีวัด ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า สถานที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ก็คือวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

โดยในส่วนของวัดบวรนิเวศราชวรวิหารนั้น เหตุที่ถูกเลือกให้เป็นวัดประจำพระองค์ก็เพราะว่าเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงผนวชและจำวัดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ โดยพระตำหนักที่ประทับในครานั้นมีชื่อว่า ‘ปั้นหยา’ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวชเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีบันทึกว่า ภายหลังทรงลาสิกขา ในเวลาที่ทรงว่างจากพระราชกรณียกิจ พระองค์มักทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง เพื่อไปเข้าเฝ้า แลสดับพระธรรมจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขณะทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ในพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

อีกทั้งวันเข้าพรรษาของทุกปี พระองค์ต้องเสด็จพระราชดำเนินไปถวายพุ่มเทียนเข้าพรรษา รวมทั้งถวายผ้าพระกฐินเป็นวัดแรก เมื่อถึงช่วงพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินหลวงประจำปี และเมื่อทรงริเริ่มโครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา ก็ทรงนำกังหันมาทดลองที่คลองเต่าภายในวัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่แรกๆ เนื่องด้วยทอดพระเนตรเห็นน้ำในคลองที่ไหลเวียนไม่ดีนัก ทำให้คลองเต่าในปัจจุบันมีเต่า มีปลาอาศัยอย่างร่มเย็น

ใต้ฐานพระพุทธชินสีห์ พระประธานในวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

เพราะฉะนั้นการที่พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์จะถูกอัญเชิญไปประดิษฐานยังฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ ในพระอุโบสถของวัดนี้ จึงนับว่ามีที่มาที่ไปที่สอดคล้องอย่างยิ่ง

แล้ววัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามล่ะ มีความสัมพันธ์กับพระองค์เช่นไร

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เช่นเดียวกับวัดบวรนิเวศวิหาร โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง

ภายในวัด นอกจากมีพระอุโบสถแล้ว ยังมีสุสานหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์สีทอง ๔ องค์ เป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคารของพระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์ มีชื่อสอดคล้องกันเรียงลำดับจากเหนือไปใต้ว่า สุนันทานุสาวรีย์  รังษีวัฒนา เสาวภาประดิษฐาน และสุขุมาลนฤมิตร์

อนุสรณ์สถาน “รังษีวัฒนา”

เจดีย์อนุสรณ์สถาน รังษีวัฒนา” นี้เองที่เป็นที่บรรจุพระราชสรีรางคารของ ๓ สมาชิกราชสกุลมหิดล ได้แก่ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 

พระพุทธบัลลังก์ของ “พระพุทธอังคีรส” ภายในบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระอัฐิสมเด็จพระศรีสุลาไลย พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร และพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗

การที่พระบรมราชสรีรางคารส่วนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ถูกแบ่งมาประดิษฐานที่ฐานพระพุทธบัลลังก์ของ “พระพุทธอังคีรส” พระประธานในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จึงอาจจะเป็นด้วยเหตุผลเดียวกับที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เคยทรงมีพระดำริไว้เมื่อครั้งมีพระชนม์ชีพว่า…

ฉันจะอยู่ข้างแม่” ด้วยก็เป็นได้

Praew Recommend

keyboard_arrow_up