“ล้ง 1919”ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีนแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ

ฉลองเปิด “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตระการตาจาก “มรดกหวั่งหลี” อายุ 167 ปี สู่ศักดิ์ศรี “มรดกแผ่นดิน”จุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

​ด้วยหัวใจรักและตระหนักถึงคุณค่าของมรดกที่บรรพบุรุษสร้างไว้ในอดีตจนเจริญมั่นคงในปัจจุบัน อันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมที่ถือเป็นมรดกของชาติด้วย ตระกูล “หวั่งหลี” ในฐานะผู้ถือครองจึงริเริ่มโครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำพระยา  โดย บริษัท ชิโน พอร์ท จำกัด ในฐานะผู้บริหารโครงการฯ ได้จัดงานเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ โดยมี คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน

ภายในงานยังได้รับเกียรติจากแขกผู้มีเกียรติ ผู้หลงใหลในศิลปวัฒนธรรมจีนจากหลากหลายวงการร่วมงานคับคั่ง อาทิ คุณใหม่ – สิริกิติยา เจนเซน, ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี, ม.ล.ภูมิใจ ชุมพล,ธีรวัฒน์ – สมพร กนกกุล, นวลพรรณ ล่ำซำ, พรนภา จันศิริ, ฐาปน – ปภัชญา สิริวัฒนภักดี,ทศ จิราธิวัฒน์, อารยา จิตตโรภาส, ปรมา  ไรวา, ไกรสิงห์ วอน บูเรน, กรณ์วิภา โชติกเสถียร,สิรินิจ โชคชัยฤทธิกุล, ดิฐวัฒน์ อิสสระ, สรรพฤทธิ์ ปัญจะ, สายวิภา ปัญจะ, ณริช พารานุลักษา, ศิวะศิษฐ์ เลาหพงศ์ชนะ, ประกาศิต พรประภา, ดร.พรเทพ พรประภา, นภัสนันท์ พรประภา,นิภาภรณ์ ศิริพงษ์, สิรินิจ โชคชัยฤทธิกุล ฯลฯ พร้อมด้วยครอบครัวตระกูลหวั่งหลี ที่ทำหน้าที่เจ้าบ้านให้การต้อนรับ อาทิ สุกิจ หวั่งหลี, วุฒิชัย หวั่งหลี, สุจินต์ หวั่งหลี, ธรรมนูญ หวั่งหลี, สุชาติ หวั่งหลี,สุเทพ หวั่งหลี, รุจิราภรณ์ หวั่งหลี, ชลันต์ หวั่งหลี, พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, ดร.ศรัณฐ์ หวั่งหลี, อนรรฆ หวั่งหลี, ฯลฯ

ประวัติความเป็นมา

ชื่อ “ล้ง” มาจากชื่อเดิมของสถานที่แห่งนี้ ที่มาชื่อว่า “ฮวย จุ่ง ล้ง” เป็นภาษาจีน เขียนว่า  火 船 廊  หมายถึง “ท่าเรือกลไฟ” ซึ่งทุกวันนี้รู้จักในนามโกดังบ้าน “หวั่งหลี”  ตั้งอยู่ ณ สุดถนนเชียงใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย – เยาวราช สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2393 (ค.ศ.1850)  โดย พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ต้นตระกูลพิศาลบุตร ซึ่งเป็นคนจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม  โดยบรรพบุรุษของท่านได้เดินทางจากเมืองจีนมาค้าขายและตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ท่าเรือนี้มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ พร้อมพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร

ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” คือท่าเรือกลไฟ ซึ่งคือเรือโดยสารหรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นต้นเชื้อเพลิงมีขนาดใหญ่กว่าเรือไฟ นิยมใช้แล่นในทะเลหรือมหาสมุทร โดยชาวจีนในอดีตนิยมใช้เดินทางทางทะเลเพื่อเข้ามาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ประเทศไทย และได้มาเทียบท่าเรือขึ้นฝั่งที่ท่าแห่งนี้

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น  จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ

ต่อมาเมื่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทในการค้ากับต่างชาติมากขึ้น ท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง ค่อยๆ ลดบทบาทลง ในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ.1919) ตระกูล “หวั่งหลี” โดยนาย ตัน ลิบ บ๊วย จึงได้เข้ารับช่วง             เป็นเจ้าของต่อจากตระกูลพิศาลบุตร และได้ปรับท่าเรือดังกล่าวให้กลายเป็นอาคารสำนักงาน และโกดังเก็บสินค้าสำหรับกิจการการค้าด้านการเกษตรของตระกูลหวั่งหลี ที่ขนส่งมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นที่อยู่อาศัย              ให้เช่าราคากันเองสำหรับพนักงานของตระกูลหวั่งหลี รวมถึงเก็บรักษาศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน)                 ที่ประดิษฐานอยู่คู่กับท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน

สำหรับ “เจ้าแม่หม่าโจ้ว” (คลองสาน) หรือ MAZU ที่ประดิษฐานอยู่คู่ ฮวย จุ่ง ล้ง มีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน เป็นเจ้าแม่หม่าโจ้วโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทำจากไม้มี 3 ปาง ได้แก่ ปางเด็กสาว (ปางจุ้ยบ๋วยเนี้ย) ตำนานเล่าว่าท่านชอบปฏิบัติธรรม ในตอนเช้าจะไปเก็บน้ำค้าง มารักษาผู้คน ส่วนปางที่สองคือ ปางผู้ใหญ่ (ปางให่ตั้งหม่า) ให้พรในด้านการค้าขายเงินทอง และปางที่สามคือ ปางเทพ (ปางเทียนโหวเซี่ยบ้อ) ซึ่งเชื่อว่าท่านเป็นเทพประทับอยู่บนสวรรค์ มีเมตตาจิตสูง ซึ่งเจ้าแม่หม่าโจ้ว ทั้ง 3 ปางนี้ เป็นองค์ที่ชาวจีนนำขึ้นเรือเดินทางมาจากเมืองจีน เมื่อมาถึงเมืองไทยจึงอัญเชิญประดิษฐานที่ศาลแห่งนี้ อายุเก่าแก่มากกว่า 167 ปี เวลาคนจีนเดินทางจากโพ้นทะเลมาถึงฝั่งประเทศไทยก็จะมากราบสักการะท่านเพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยคุ้มครองให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และเมื่อจะเดินทางกลับไปประเทศจีนก็จะมากราบลาเจ้าแม่ที่นี่เช่นกัน “เจ้าแม่หม่าโจ้ว” (คลองสาน) จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนจีนในแผ่นดินไทย ซึ่งคนจีนที่ทำการค้าในไทยจนเจริญร่ำรวยเป็นเศรษฐีก็ล้วนก่อร่างสร้างตัวมาจากที่นี่

รูปแบบสถาปัตยกรรม

“ฮวย จุ่ง ล้ง” ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนพื้นสร้างจากไม้ หลังคาสร้างจากกระเบื้อง เป็นหมู่อาคารแบบ “ซาน เหอ ย่วน” ( ) ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารในแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปทรงตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสามหลังเป็นลานอเนกประสงค์

ตัวอาคารถูกใช้สำหรับหลายวัตถุประสงค์ อาคารด้านในที่ตั้งขนานกับแม่น้ำเป็นอาคารประธานเป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว” (คลองสาน) ส่วนอาคารอีก 2 หลังที่ตั้งฉากกับแม่น้ำ ใช้สำหรับเป็นอาคารสำนักงานและโกดังสินค้า ภายหลังมีการสร้างโกดังเพิ่มเติมที่ริมฝั่งแม่น้ำ ต่อจากอาคารทั้ง 2 ข้าง เพื่อรองรับการเก็บสินค้าจำนวนมาก และการเปลี่ยนแปลงของอาคารดั้งเดิมที่กลายเป็นที่อยู่อาศัยของพนักงานหวั่งหลี

ด้วยคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ของ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ซึ่งเป็นอาคารหมู่เรือนแถวไม้ที่ออกแบบด้วยการวางผังสถาปัตยกรรม “ซาน เหอ ย่วน” แบบจีนโบราณ เป็นเพียงไม่กี่หลังที่ยังหลงเหลืออยู่บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา งดงามด้วยจิตรกรรมฝาผนังลวดลายอันเป็นมงคลและภาพวิถีชีวิต ที่เป็นเรื่องราวมาจากนวนิยายจีนโบราณ             เรื่องดัง บนผนังปูนรอบหน้าต่างและประตู ซึ่งมีอายุเก่าแก่มากกว่า 167 ปี “ฮวย จุ่ง ล้ง” จึงถูกยกฐานะ            เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ตามกฎหมายการอนุรักษ์ของประเทศไทย ลูกหลานของตระกูลหวั่งหลี             ผู้เป็นเจ้าของถือครองจึงมีเจตนารมณ์ที่จะรักษามรดกของบรรพบุรุษชิ้นนี้ไว้ให้คงอยู่ตราบนาน โครงการบูรณะท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ขึ้น จึงได้ริเริ่มขึ้น

โครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่สุดถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน เปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป เปิดบริการทุกวัน โซนศาลเจ้าแม่ + Art & Craft Shop (อาร์ต แอนด์ คราฟท์ ช็อป) เปิดเวลา 8.00-20.00 น. Eatery Zone (อีทเธอรี่ โซน) เปิดเวลา 10.00-22.00 น. ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ LHONG 1919 หรือ สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 091-187-1919

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up