ตัวเลข อธิบายเรื่องราวของเธอ ผศ.ชญณา ศิริภิรมย์ CFO จาก แอกซ่าประกันภัย

“เดินป่ามาถึงซึ่งแยก ถนนแรกคนมากฝากฝัน  ฉันเลือกถนนคนน้อยเส้นนั้น เพราะนั่น ฉันจึงแตกต่าง” บทกลอนเรียบเรียงโดย ผศ.ชญณา ศิริภิรมย์ CFO – ผู้อำนวยการสายงานการเงินและคณิตศาสตร์ประกันภัย บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน)   ที่ถ่ายทอดความคิดเดียวกับบทกวี The Road Not Taken โดยกวีชาวอเมริกัน Robert Frost ซึ่งผู้บริหารสาวเชื่อว่าทางเลือกที่คนอื่นไม่เลือก แม้จะคนส่วนใหญ่จะไม่สนใจหรือมองว่าแปลก แต่เป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จได้ โดยอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย     เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้และเป็นที่ต้องการสูงในประเทศไทย

การทำงานในด้านธุรกิจประกันภัยเป็นสิ่งที่ใฝ่ฝันอยากทำหรือไม่   

ก็เป็นสิ่งที่คิดอยากทำนะคะ  ตั้งแต่เลือกคณะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเลยดีกว่า  ด้วยความที่เรารักในตัวเลข  ชอบคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ วิเคราะห์พฤติกรรมคน  วิเคราะห์เหตุการณ์ ชอบทำนาย  ตั้งคำถามให้คิดใหม่  มองใหม่ มองทำนายไกลๆ และได้คำแนะนำจากเพื่อนๆ ของคุณพ่อคุณแม่ ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจที่ว่า เมื่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญเติบโตขึ้น ธุรกิจประกันภัยจะเป็นสิ่งที่เติบโตควบคู่กันไปอย่างแน่นอน เชื่อว่าประเทศมีความต้องการในอาชีพนี้สูง  จึงได้ตัดสินใจเรียนสถิติ ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตอนเลือกสายแยกเรียนตอนปี 2 ได้ตัดสินใจเลือกเรียน ประกันภัย ก็จะเป็นคนส่วนน้อย อาจจะดูแปลก เพราะเพื่อน 100 คน มีเลือกเรียนเมเจอร์นี้แค่ 10 คน และได้เลือกเรียนต่อระดับปริญญาโทด้าน Actuarial ที่สหรัฐอเมริกา คนมักถามว่าเรียนอะไรไม่รู้จัก ก็ตอบให้เข้าใจง่ายที่สุดว่า     เรียนศาสตร์ที่ว่าด้วยการนำข้อมูลมาทำนายอนาคต จริงๆ ก็คือสถิติวิเคราะห์ เพื่อการพยากรณ์ค่ะ

เรียนจบแล้วทำงานด้านประกันภัยเลยหรือไม่ รู้สึกอย่างไร

จบแล้ว ทำงานเป็นอาจารย์ที่นิด้า สอนระดับปริญญาโทเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ประกันภัย ช่วงนั้นได้รับโอกาสเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจประกันหลายแห่ง ยอมรับเลยว่า งานที่ปรึกษา ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรต่ออะไรหลายอย่างมาก ได้ประสบการณ์ที่ผลักดันชีวิต ให้มองเกมหรือแนวทางธุรกิจได้ เพราะส่วนใหญ่ก็คือโปรเจกต์ใหม่ๆ เป็นเรื่องอนาคต เป็นสิ่งใหม่ๆ ไม่แน่นอน ไม่เคยมีมาก่อน มีความเสี่ยง เป็นสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงมีความต้องการ  หรือเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งเราจะต้องทำให้ได้ โดยไม่มีกำลังพล  เราต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำให้เกิดผลลัพธ์ในเวลาที่จำกัด     ซึ่งพอโปรเจกต์เริ่มอยู่ตัว เดินไปได้  ถึงจะส่งต่อให้กับพนักงานประจำในองค์กรบริหารต่อไป และเราก็ไปเริ่มโปรเจ็คใหม่  ช่วง 7-8 ปี แรกที่กลับมาเมืองไทย ทำงานหนักมากทำตลอด 7 วัน สอนหนังสือ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เตรียมการสอนตอนกลางคืน ทำงานเป็นที่ปรึกษาหลายแห่งหลายโครงการ และทำงานวิจัยจนได้ตำแหน่งทางวิชาการผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสถิติประยุกต์

มีแนวคิดในการทำงานอย่างไร
ต้องใช้หลักการ Result และ Relationship ต้องหาสมดุล คือน้องบางคนมีความฝันสูงอยากโตเร็ว ก็ผลักดันได้เต็มที่ บางคนทำงานแบบเรื่อยๆ เฉื่อยๆ ก็ต้องกระตุ้น ด้วยความเมตตา เราต้องมองน้องๆ อย่างละเอียดทุกคน เปิดใจคุยกัน ทำให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น สบายใจมากขึ้น เพราะมีทีมงานที่คอยซับพอร์ตเรา

จัดการอย่างไรกับอุปสรรค
คิดว่าอุปสรรคเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ พอเป็นเรื่องของตัวเอง เราต้องถอยตัวเองออกมาก่อน พอถอยตัวเองออกมา คิดว่าตรงนั้นเป็นคนอื่นเราจะคิดทางออกได้สารพัด เบาเลย ความตึงเครียดก็จะค่อยๆ หายไป จะรู้สึกมีพลัง มีสติและปัญญาเข้ามาแทน แล้วก็ค่อยๆ คิดจัดการแก้ไขปัญหา

แรงบันดาลใจในการทำงาน หรือไอดอลในการทำงาน
ผู้บังคับบัญชาทุกคนที่ผ่านมาเป็นไอดอลทุกคน หลายๆท่าน มี people skill ที่ดีมาก เนื่องจากเราเรียน และทำงานทาง technical พอต้องทำงานกับคนเยอะๆ ในขณะที่เราอายุน้อยและประสบการณ์น้อย เรารู้ว่าจุดนี้เราต้องพัฒนาให้มากและเร็ว ก็จะคอยสังเกต คิดวิเคราะห์ คิดตาม เช่น เวลาที่เราคิดไม่ออก เราจะคิดว่า ถ้าเป็นท่านเหล่านั้นท่านจะทำอย่างไร การให้เกียรติเรา ให้โอกาสเราเสมอ ทำให้เราอยากทำงานให้เต็มที่เต็มกำลัง ในส่วนของแรงบันดาลใจส่วนตัวคือ อยากเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก

ความท้าทายที่อยากจะทำ
ในมุมของการทำงาน ไม่เคยคิดว่าจะต้องอยู่หรือไม่อยู่ในงานด้านประกัน ทุกอย่างขึ้นกับโอกาสที่เข้ามา โดยที่เราพร้อมเสมอที่จะทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ แม้จะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบแบบที่ไม่เคยทำ ยิ่งถ้าเป็นงานที่ผู้ใหญ่มอบหมายให้ ก็แสดงว่าผู้ใหญ่เชื่อมั่นว่าเราทำได้ก็ไม่ลังเลค่ะ

ณ วันนี้ ที่สำคัญคืออะไร
ลูกชายคนเดียวอายุ 18 ปี เพิ่งไปเรียนต่อแพทย์ที่สหราชอาณาจักร ณ วันนี้ จึงมีเวลาทำกิจกรรมเพื่อตัวเองมากขึ้น สุขภาพร่างกายสำคัญที่สุดเวลานี้ ออกกำลังให้ได้อย่างน้อย 3-4 วัน ต่อสัปดาห์ ซึ่งจริงๆก็ไม่มากพอเท่าไหร่ ชอบเต้น (เคยเป็นเชียร์ลีดเดอร์งานฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์) ชอบเล่นดนตรี ก็มีเวลากลับมาทำในสิ่งที่ชอบส่วนตัวได้มากขึ้น เรียนเต้น 1-2 วัน โยคะ 1 วัน ฟิตเนส 1 วัน จริงๆ คือตั้งเป้าหมาย อยากเต้นสวยๆ ถ้าอยากเต้นสวยๆสนุกๆจนจบเพลงหลายๆเพลง เราก็ต้องแข็งแรงและยืดหยุ่นพอ จึงไปฟิตเนสและโยคะ มีสุขภาพที่ดีเพื่ออยู่และทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับครอบครัวและสังคมค่ะ ลูกชายจิมมี่

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up