ชีวิตสุดล้ำของคุณแม่ (บ้าน) ยุคดิจิ. ปิติภัทร สารสิน

ส่องลูกแบบไฮเทค

เดิมทีคุณบีเป็นสาวชิคที่ชื่นชอบการอัพเดตเทรนด์ต่าง ๆ อยู่แล้วการมีลูกจึงไม่ใช่อุปสรรค แต่กลับเปิดประตูสู่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เธอเป็นคุณแม่ที่มาเหนือใคร ๆ “ความจริงทั้งบีและพี่ดุ๋ง (พาที สารสิน) จะชอบแก็ดเจ็ต และอัพเดตเทคโนโลยีต่าง ๆ กันอยู่แล้ว เห็นอะไรออกใหม่ไม่ได้เลย อย่างสมมุติมีไอโฟนรุ่นใหม่กว่าออกมาก็ซื้อเปลี่ยน สักพักมี Apple Watchออกมาก็ซื้ออีก ทุกอย่างเพื่อความบันเทิงทั้งนั้น การซื้อแก็ดเจ็ตสำหรับบีจึงให้อารมณ์เหมือนซื้อเพชร คือเป็นความชอบ ได้มาแล้วปลาบปลื้ม

“พอมีลูก แม้บีจะอยากอยู่ใกล้ชิดลูกแค่ไหน แต่จำเป็นที่เราต้องมีเวลาส่วนตัวและเวลาให้สามีบ้าง อย่างทุกวันนี้เราแยกห้องนอนกัน บีกับพี่ดุ๋งอยู่ห้องหนึ่ง ส่วนลูก ๆ จะแยกนอนอีกห้องแล้วมีพี่เลี้ยงเฝ้า หรือบางทีเราอยากให้เวลาตัวเองพักผ่อนสบาย ๆ อาบน้ำขัดตัวสัก 1 ชั่วโมงบ้าง แต่ไม่อยากละสายตาจากลูกและไม่สามารถไว้ใจใครได้เต็มร้อยจึงจำเป็นต้องมีตาวิเศษไว้คอยดู เรียกว่ากล้อง Baby Monitor ทำหน้าที่คล้ายกล้องวงจรปิด แต่เป็นภาพสี ซูมเข้า – ออกได้ ฟังเสียงได้แบบเรียลไทม์ แถมยังอัดเป็นวิดีโอได้ โดยเชื่อมสัญญาณภาพเข้ากับแอพพลิเคชั่น My Baby ในโทรศัพท์มือถือ คราวนี้ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนทำอะไร ไปอาบน้ำ ช็อปปิ้ง หรือเที่ยวต่างประเทศ ก็สามารถเปิดแอพพลิเคชั่นดูได้ว่าตอนนี้ลูกทำอะไร พี่เลี้ยงดูแลลูกอย่างไร เช็กได้หมดซึ่งสำหรับบีกล้องพวกนี้เป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ถ้ามีพี่เลี้ยงมาใหม่ เขาจะถามว่าทำไมบ้านนี้ไฮเทคจัง (หัวเราะ)

1

“เราเริ่มใช้กล้องครั้งแรกตอนมีน้องดีดี ลูกชายคนโต โดยตั้งกล้องไว้หน้าลูกแล้วถ่ายทอดสดไปให้คุณพ่อดูที่ออฟฟิศ ปรากฏสักพักลูกหันไปอีกทาง คุณพ่อโทร.หาคุณเมียว่าให้ย้ายกล้องมาอีกฝั่ง จะได้เห็นหน้าลูก กลายเป็นลำบากเราอีก สุดท้ายต้องซื้อกล้องเพิ่มอีกเป็น 2 ตัวจะได้เห็นทั้งสองมุม พอเห็นว่าแอพพลิเคชั่นนี้เวิร์ค คราวนี้ปู่ย่าขอโหลดมาใช้ด้วย (หัวเราะ) แล้วมีพาสเวิร์ดจำกัดไว้ให้เป็นเฉพาะคนในครอบครัวที่ดูได้ กระทั่งมีลูกคนที่สอง คิดว่าจะเห่อน้อยลง ปรากฏว่าเหมือนเดิมคราวนี้ติดกล้องเพิ่มไว้ตามห้องต่าง ๆ เป็น 6 ตัวเลย ทั้งห้องนอนลูกคนโต ห้องเจ้าตัวเล็ก ห้องนั่งเล่น คือเขาอยู่ไหน เราตามดูได้ตลอดซึ่งบีว่าทำให้ชีวิตแม่ดีมากเลย เราไม่ต้องอยู่ใกล้กัน แต่เห็นว่าเขาเป็นอย่างไร อย่างบางทีลูกกำลังหลับ แต่เราอยากคุยเสียงดัง เราก็ออกมาอยู่อีกห้อง พอเขาตื่นขึ้นมาร้องแอ๊ะก็ให้พี่เลี้ยงเข้าไปช่วยดู เราแค่สังเกตการณ์ผ่านแอพพลิเคชั่น หรือแม้กระทั่งช่วงกลางคืน เนื่องจากเรานอนคนละห้อง ถ้าเราเกิดคิดถึงหรือเป็นห่วงลูกขึ้นมาตอนดึกก็แค่เปิดแอพพลิเคชั่นดูได้ ไม่ต้องเดินไปถึงห้องลูก

“อีกอย่างที่เวิร์คมากคือเฟซไทม์ (Facetime) คือคุยโทรศัพท์แบบเห็นหน้าได้ เพราะพี่ดุ๋งไปต่างประเทศบ่อย เขาจะคอยเฟซไทม์กลับมาหาลูก ๆ แก้คิดถึง บีเองเคยไปต่างประเทศโดยไม่มีลูกไปด้วย ก็อาศัยเฟซไทม์มาหาเขาเหมือนกัน ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากเลยแม้เด็กจะไม่อินกับการเฟซไทม์เลยก็ตาม (หัวเราะ) แต่สำหรับคนเป็นแม่แค่ได้เห็นว่าลูกโอเค เราก็แฮ็ปปี้แล้ว”

เรื่องบันเทิงฉบับติ่งเกาหลี…

นอกจากจะสังเกตการณ์ลูก ๆ ผ่านกล้องแล้ว อีกหนึ่งความบันเทิงยามปั๊มนมของคุณแม่ลูกอ่อนคือการดูซีรี่ส์เกาหลี “บีติดหนังเกาหลีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว สมัยทำงานต้องโหลดหนังและละครเกาหลีเก็บไว้ในไอแพ็ด พอมาเป็นแม่ เราก็ยังไม่ทิ้งความเป็นติ่งเกาหลี ช่วงไหนว่างก็ดูตลอด เช่น ช่วงให้นมลูก หรือช่วงปั๊มนมที่ต้องทำทุก 3 ชั่วโมงบีใช้วิธีวางเครื่องปั๊มนมไว้ตามจุดต่าง ๆ ทั่วบ้าน เพื่อสร้างบรรยากาศในการปั๊ม ข้าง ๆ ที่ปั๊มมีไอแพ็ดหรือโทรศัพท์มือถือวางไว้ด้วยกัน ปั๊มแต่ละครั้งก็ดูซีรี่ส์ไปด้วย ไม่อยากบอกเลยว่าน้ำนมไหลดี๊ดี (หัวเราะ)เพียงแต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีให้โหลดแล้ว ใช้วิธีดูออนไลน์เลย ซึ่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตต้องดี ไม่อย่างนั้นจะค้างหรือกระตุก เสียอารมณ์ เราเลยต้องติดตัวกระจายสัญญาณ Wi-Fi ทั่วทุกพื้นที่ ทั้งห้องนอน ห้องแต่งตัวห้องรับแขก ห้องลูก คือจะอยู่ตรงไหนก็ต้องมีสัญญาณและต้องเร็วด้วยถ้าใช้เน็ตแล้วรู้สึกว่าช้า ทั้งบีทั้งพี่ดุ๋งก็จะโวยวายขึ้นมาว่า อุ้ย ทำไมช้าฮัลโหล ๆ (หัวเราะ) คือพอกันทั้งคู่

2

“ความสุขอีกอย่างคือการได้อัพโหลดรูปลูกผ่านทางโซเชียลมีเดียอัพทั้งรูป ทั้งวิดีโอ บางคลิปยังคิดเลยว่าถ้าลูกมาดูตอนโตแล้วอาจโกรธแม่ เพราะเป็นคลิปตอนอาบน้ำงี้ (หัวเราะ) แล้วเราจะมีแฮชแท็กชื่อลูกด้วยนะ เป็น #ddsarasin กับ #gdsarasin ถ้ายังเหลือเวลาว่างอีกแม่ก็จะช็อปปิ้งออนไลน์เลยจ้า ซื้อตลอด ทั้งเสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าผู้ใหญ่เครื่องประดับ หรืออุปกรณ์ใช้สอยเกี่ยวกับลูก เวลาจ่ายเงินถ้าเป็นเว็บไซต์เมืองไทยจะใช้วิธีโอนเงินทางออนไลน์ แต่ถ้าเป็นเว็บไซต์เมืองนอกก็รูดบัตรเครดิต ใช้บัตรสามีดีที่สุด” (หัวเราะ)

Better Online

ขณะที่หลายคนอาจแอนตี้การใช้เทคโนโลยีกับลูกเล็ก แต่คุณบีกลับมองต่างออกไป “บีมองว่าเทคโนโลยีช่วยให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้นและทำให้เราทันโลก อย่างบีชอบเดินทาง เวลาไปกับพี่ดุ๋งหรือครอบครัวเราจะมีหน้าที่หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตแล้วเซฟเก็บไว้ พอไปถึงเมืองไหนเราเปิด Google Map เลย ยิ่งกับประเทศที่ระบบขนส่งคมนาคมเสถียรแล้วอย่างญี่ปุ่นนี่ กูเกิลสามารถบอกได้เลยว่าขึ้นรถไฟสายนี้ต่อไปยังสถานีนี้นะ จะมีลิฟต์สำหรับคนนั่งรถเข็นตรงนี้ คือเวิร์คมาก หรือถ้าเป็นเรื่องงาน แต่ก่อนเวลาจะคุยงานกันทีต้องนัดประชุม สมัยนี้คุยผ่าน Line Group ก็สั่งงานได้เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรจะเรียนรู้ไว้ เพื่อที่เวลาดีลกับเด็กรุ่นใหม่ เราจะได้ไม่เป็นเต่า

“อีกอย่างคือลูกเราก็เป็นเด็ก Gen Alpha คือเกิดมาก็ต้องอยู่กับเทคโนโลยีแล้ว มีทั้งทีวีดิจิทัล ไอแพ็ด อะไรต่อมิอะไร เขาหนีไม่พ้นหรอก เราเป็นแม่จึงควรรู้ให้ทัน เพื่อที่จะมีวิธีจัดการหรือจำกัดการใช้งานของลูกได้ อย่างทีวีดิจิทัลเราก็ต้องรู้ว่าดูได้ทางไหน มีรายการอะไรลูกควรดูไหม หรือบางคนบอกว่าไม่ควรให้ลูกเล่นไอแพ็ด เพราะจะไม่ดีต่อสายตาเด็ก เราก็เห็นด้วยนะ แต่ไม่ได้ห้ามลูกเล่นเด็ดขาดก็ปล่อยให้เขาเล่นบ้าง แค่จำกัดเวลาหน่อย เพราะเรารู้ว่าหลักสูตรการเรียนสมัยใหม่เขาค่อนข้างให้ความสนใจกับเรื่องดิจิทัลพอสมควรอย่างโรงเรียนอินเตอร์สมัยนี้ยังมีวิชาเกี่ยวกับไอแพ็ดเลย เขาไม่ได้สอนให้เด็กเล่นเกม แต่เพราะเขามองว่าเด็กสามารถเรียนรู้บางเรื่องผ่านไอแพ็ดได้ดีกว่า เช่น การหาข้อมูลในกูเกิล ซึ่งบางครั้งมันหาข้อมูลได้เร็วและง่ายกว่าถามครูอีก (ยิ้ม)

“ส่วนที่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เขาติดเกมหรือแก็ดเจ็ตมากไป เราต้องมีวิธีจัดการ วิธีของบีคือ บีจะไม่ให้เขาเล่นเกม แต่จะให้ดูพวก A B C หรือวิธีนับเลข 1 2 3 4 ผ่านไอแพ็ดบ้าง เป็นความรู้และการศึกษามากกว่า แต่ก็มีบ้างบางช่วง เช่น ตอนที่เขาไม่สนใจการกินข้าวเลย เคยใช้ไอแพ็ดดึงความสนใจให้ลูกเดินมานั่งโต๊ะกินข้าวบ้าง แต่วันหนึ่งพอเขาโอเคแล้ว เราก็จะค่อย ๆ ดึงไอแพ็ดออกจากเขา โดยบอกเขาว่า ‘ไอแพ็ดชาร์จแบตอยู่ลูก’ คือเราจะไม่ฝากความหวังทั้งหมดไว้กับเทคโนโลยี เราเป็นแม่ก็ต้องทำให้เขาสนใจเราได้บ้าง ไม่อย่างนั้นลูกก็จะไม่เอาเรา

“บีว่าสุดท้ายแล้วลูกจะติดสื่อดิจิทัลหรือไม่นั้นอยู่ที่พ่อแม่เลี้ยงมากกว่า บีจะให้ลูกเล่นของพวกนี้ในเวลาที่เรารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว อยากให้เขาอยู่นิ่ง ๆ สักพัก หรือในเวลาที่เราต้องออกไปทำธุระด่วน ๆ แต่ถ้าตอนนั้นเราพร้อมที่จะคุยกับเขาหรือเขามีคนเล่นด้วยอยู่แล้ว เราก็ให้เขาอยู่กับคนดีกว่า เพราะบีเชื่อว่า ดีที่สุดคือรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตเรา”

 

เรื่อง : ปารัณ, Tomalin

ภาพ : เนาวพจน์ โพธิศรี

ที่มา : คอลัมน์ LIVE STORIES นิตยสารแพรว ฉบับ862 ปักษ์วันที่ 25 กรกฎาคม 2558
บทความนี้ถือเป็นทรัพย์สินของเว็บไซต์แพรว ห้ามผู้ใดนำไปคัดลอก ดัดแปลง หรือทำซ้ำ อนุญาตให้แชร์บทความนี้ได้จากลิ้งค์นี้เท่านั้น

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up