ทำอย่างไรเมื่อน้ำนมแม่ ไหลไม่ทันใจให้ลูกดูด

น้ำนมน้อย กระตุ้นอย่างไรดี

การผลิตน้ำนมของแม่เป็นกระบวนการอุปสงค์อุปทาน ถ้าลูกดูดเยอะ ดูดบ่อย น้ำนมก็จะผลิตเยอะ แต่ถ้าลูกดูดน้อย น้ำนมก็ผลิตน้อย ทำให้คุณแม่อาจเข้าใจผิดคิดว่าที่น้ำนมไม่ค่อยออกเพราะมีน้ำนมน้อย พอน้ำนมน้อยก็ไม่ยอมให้ลูกดูด แล้วน้ำนมก็จะแห้งไปในที่สุด เมื่อไม่มีการดูดกระตุ้น น้ำนมก็ไม่ผลิต ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติ โดยวิธีการกระตุ้นน้ำนมที่ดีที่สุด คือการใช้เทคนิค ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดนาน ดังนี้

  • ดูดเร็ว คือเมื่อลูกคลอดออกมาภายใน 15 – 30 นาที ควรให้ลูกดูดนมเลย เพื่อกระตุ้นน้ำนมครั้งแรก
  • ดูดบ่อย คือให้ลูกดูดนมบ่อยๆ วันละ 8 -12 ครั้ง หรือตามที่ลูกต้องการ ถ้าลูกร้องงอแง หรือหิวก็ให้ดูดทันที
  • ดูดนาน คือในแต่ละครั้งที่ลูกดูดนมให้ดูดนานๆ ประมาณข้างละ 15 นาที หรือดูดจนกว่าลูกจะเลิกดูดไปเอง แต่ละข้างไม่ควรเกิน 30 นาที ควรสลับเต้าซ้าย – ขวา

วิธีดังกล่าวจะทำให้น้ำนมผลิตมาอย่างสม่ำเสมอ มีน้ำนมออกมาเต็มที่ โดยในช่วง 2 – 3 วันแรกหลังคลอด ลูกอาจจะดูดน้อย ธรรมชาติสร้างให้แม่กับลูกคู่กัน จึงไม่ต้องกังวลว่าน้ำนมจะไม่พอ ถ้ากระตุ้นด้วยการดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดนาน รับรองว่าจะมีน้ำนมเพียงพอต่อความต้องการของลูกแน่นอน

รู้ได้อย่างไร…น้ำนมเพียงพอต่อความต้องการของลูก

คุณแม่อาจกังวลว่าลูกต้องการกินนมมากเท่าไหร่ กินอิ่มหรือยัง จึงให้นมตลอดเวลาแม้ลูกอิ่มแล้ว พอถึงเวลาให้นมก็ปลุกขึ้นมาดูด ซึ่งทำให้ลูกอารมณ์หงุดหงิด ร้องไห้งอแง คุณแม่สามารถสังเกตว่าลูกอิ่มแล้วได้โดย ลูกจะนอนหลับง่าย หลับสบาย ไม่ร้องกวนงอแง อึบ่อย ฉี่บ่อย น้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์

ก่อนให้ลูกดูดนมจะมีอาการคัดเต้านม แต่พอลูกดูดเสร็จเต้านมจะนิ่ม ขณะที่ลูกดูดนม เต้านมอีกข้างหนึ่งจะมีน้ำนมไหลซึมออกมา ถือเป็นกลไกที่บอกว่าเรามีน้ำนมเพียงพอให้ลูก

มาบีบน้ำนมด้วยมือกันเถอะ

หากบางครั้งน้ำนมน้อย ไม่ค่อยไหล การบีบน้ำนมด้วยมือจะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมไหลได้

  • ล้างมือให้สะอาด
  • ต้องอยู่ในภาวะที่สบาย อย่าเครียด ผ่อนคลาย และจัดท่านั่งให้อยู่ในท่าที่สบาย
  • อยู่ในห้องที่เป็นส่วนตัว มิดชิด ไม่มีคนพลุกพล่าน จะช่วยให้คุณแม่ไม่รู้สึกอายที่จะบีบ
  • ถ้ามีลูกอยู่ด้วยจะยิ่งดีเพราะการที่แม่ได้โอบกอดลูก เป็นการกระตุ้นให้คุณแม่มีความสุข ซึ่งมีผลให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น
  • ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้กดลงไปบริเวณลานหัวนม ให้ห่างจากหัวนมประมาณ 3 เซนติเมตร ให้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้อยู่ตรงกันข้ามกัน แล้วกดเข้าหาตัวเบาๆ กดแล้วบีบให้เป็นจังหวะ เหมือนเป็นการรีดน้ำนมจากบริเวณท่อน้ำนมให้ไหลออกมาตรงปลายสุด อีกมือหนึ่งใช้ประคองเต้าไว้ด้านล่าง เพราะเต้านมมีขนาดขยายใหญ่ มีน้ำหนัก ต้องช่วยประคองไว้
  • เมื่อบีบจนรู้สึกว่ามุมนี้ไม่มีน้ำนมออกแล้ว ให้ขยับเปลี่ยนมุม โดยหมุนนิ้วชี้และนิ้วโป้งไปยังมุมอื่นๆ ตามขอบลานหัวนม จนไม่มีน้ำนมออกมาแล้วก็ให้พอ ควรใช้เวลาบีบน้ำนมไม่เกิน 30 นาที เพื่อลดอาการเมื่อยล้า
  • ไม่ควรบีบแรงจนเกินไป หรือบางคนใจร้อนเห็นว่าน้ำนมยังไม่ออกก็ขย้ำเต้านม ซึ่งการทำแบบนี้อาจทำให้เต้านมเกิดการช้ำได้

นวดเต้านม ช่วยให้น้ำนมไหลดี

คุณแม่ที่มีน้ำนมน้อย การนวดเต้านมอาจช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้นได้

  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบทิ้งไว้ 3-5 นาที
  • ใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว ค่อยๆ คลึงเบาๆ ที่เต้านม โดยคลึงเป็นวงกลมจากบริเวณฐานเต้านมไปถึงตรงปลายใกล้หัวนม นวดคลึงเบาๆ จะช่วยให้น้ำนมไหลออกมาได้ง่ายขึ้น

ส่วนคุณแม่ที่มีน้ำนมเยอะ อาจคัดตึงเต้านมได้ ดังนั้น ก่อนให้นมควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบไว้ 3-5 นาที แล้วนวดคลึงเบาๆ ก่อนบีบน้ำนมออก จะช่วยให้รู้สึกสบาย น้ำนมไหลกระจายดี บีบออกมาได้เยอะขึ้น

เต้านมคัด ทำอย่างไรดี

อาการคัดเต้านม เกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งมีสาเหตุมาจาก

  • ลูกดูดนมไม่ถูกวิธี เช่น ลูกอ้าปากไม่กว้าง งับไม่ถึงลานนม ทำให้น้ำนมไม่ออก พอน้ำนมไม่ออก เมื่อมีการผลิตออกมาใหม่ แต่ของเดิมยังคงมีอยู่ก็ทำให้คัดตึงเต้านมได้
  • คุณแม่บางคนเคร่งคัดต่อการกำหนดเวลาในการให้นมมากเกินไป เช่น ต้องให้ลูกกินเป็นเวลาทุก 3 ชั่วโมง แม้ลูกจะหิวแต่ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่ให้ ซึ่งอาจเป็นเวลาที่น้ำนมมีการผลิต พอไม่ได้มีการดูดออก จึงเกิดคัดตึงเต้านมขึ้น

เพราะฉะนั้น การให้นมต้องให้ตามความต้องการของลูก ลูกอยากกินตอนไหนก็ให้ตอนนั้น การปล่อยให้ลูกหิวจัดอาจทำให้ลูกไม่มีแรงดูด พอจะให้ดูดกลายเป็นว่าลูกไม่ยอมดูด เกิดการปฏิเสธเต้า ไม่ยอมดูดนมได้

ในช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรให้ลูกกินนมตามที่ลูกต้องการ อย่ากังวลเรื่องวินัยในการกิน ควรฝึกเรื่องนี้หลัง 6 เดือนไปแล้ว หรือเมื่อลูกเริ่มกินอาหารเสริม

น้ำนมเยอะ ทำให้ลูกสำลักได้ไหม

คุณแม่ที่น้ำนมเยอะอาจทำให้เวลาที่ลูกดูดแล้วกลืนไม่ทัน หรือน้ำนมพุ่งลงไปที่คอหอย ทำให้เกิดการสำลักได้ สัญญาณบอกว่าคุณแม่มีน้ำนมเยอะ ดูได้จากการดูดนมของลูก ว่าลูกดูดนมทันหรือไม่ ดังนี้

  • ดิ้นทุรนทุรายระหว่างดูดนม เพราะอาจจะดูดและกลืนไม่ทัน เกิดการสำลักได้
  • หลังจากลูกดูดนมเสร็จแล้ว ให้สังเกตที่หัวนม ถ้ามีสีซีดขาว หัวนมเป็นรอยพับ แสดงว่าน้ำนมเยอะ ทำให้ลูกเอาลิ้นดันไว้ เพราะกลืนไม่ทัน

ดังนั้นถ้าน้ำนมเยอะคุณแม่ควรบีบเก็บเป็นสต็อกไว้ หรือปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกกิน เพื่อให้น้ำนมเหลืออยู่ในเต้าไม่เยอะเกินไป ป้องกันการสำลักนมแม่ได้

หัวนมแตก เกิดได้อย่างไร

หัวนมแตก สาเหตุเกิดจากลูกดูดผิดท่า งับหัวนมไม่ถึงลานนม งับไม่ลึกพอ เกิดการเสียดสี ทำให้หัวนมแห้ง ถลอกและแตกได้ง่าย

วิธีรักษาหัวนมแตกที่ดีที่สุด คือเอาน้ำนมของคุณแม่ทาบริเวณหัวนม เพราะน้ำนมเป็นทั้งสารหล่อลื่น และเป็นทั้งสารฆ่าเชื้อ ทาทิ้งไว้รอจนแห้ง แล้วค่อยใส่เสื้อชั้นใน เพราะถ้ายังไม่แห้งแล้วใส่เสื้อชั้นในเลยจะทำให้เกิดการอับชื้น เป็นเชื้อราได้

หรืออีกวิธีลองเปลี่ยนท่าให้นมบ่อยๆ ซึ่งจะช่วยให้ตำแหน่งที่ลูกงับไม่ตรงกับตำแหน่งเดิม จะช่วยลดอาการเจ็บได้ เพราะส่วนใหญ่ที่เจ็บหัวนมเป็นเพราะลูกงับอยู่ตำแหน่งเดิมตลอด

ลูกปฏิเสธเต้านม ทำอย่างไรดี

การปฏิเสธเต้านมต้องดูว่าปฏิเสธตั้งแต่ต้น หรือดูดนมมาตลอด แล้วอยู่ดีๆ เกิดปฏิเสธขึ้นมา กรณีที่ปฏิเสธตั้งแต่แรก คือหลังคลอดไม่ยอมดูดนมจากเต้า อาจเป็นเพราะน้ำนมแม่ยังผลิตไม่พอ พอลูกดูดน้ำนมไม่ออกเลยทำให้หงุดหงิด ไม่ยอมกินต่อ ก็ต้องพยายามช่วยลูกให้ดูดนมจากเต้ามากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมออกมาเพียงพอ

อย่ารีบใช้ขวดนม เพราะคุณแม่บางคนเห็นว่านมยังไม่ออกก็ให้ลูกดูดขวดแทน พอจะกลับมาให้ดูดเต้าอีกครั้งกลายเป็นเรื่องยาก เพราะการใช้ขวดนม หรือจุกหลอกจะทำให้ลูกสับสน ที่สำคัญการดูดจากขวดนั้นดูดง่ายกว่า จะทำให้กลับไปดูดนมแม่ยาก

เต้านมคัด หัวนมแข็ง ทำให้ดูดไม่สะดวก ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมดูดได้ ฉะนั้น ในช่วงแรกที่ลูกไม่ยอมดูด พยายามหาสาเหตุ แล้วให้ลูกดูดบ่อยๆ ดูดให้ถูกวิธี จัดท่าดูดให้ถูก ถ้าเต้านมคัดก็บีบออกให้เต้านมนิ่มก่อน และเมื่อลูกเริ่มชินกับเต้านมก็จะดูดเป็นปกติ ส่วนกรณีที่ดูดปกติ แล้วอยู่ๆ ปฏิเสธ มักเกิดจาก

  • ถึงวัยที่มีฟันขึ้น เจ็บเหงือกก็อาจจะไม่ยอมดูด ร้องกวนหงุดหงิด
  • อาจมีสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจมากกว่า เบี่ยงเบนความสนใจ ห่วงเล่น ทำให้ไม่ยอมกิน
  • อาจมีภาวะเครียดบางอย่าง หรือมีอาการเจ็บป่วย เช่น เป็นหูอักเสบ เวลาดูดแล้วทำให้เจ็บหู ลูกก็จะไม่ยอมดูด
  • คออักเสบ เป็นหวัด คัดจมูก ดูดนมไม่ได้ เพราะเวลาดูดลูกต้องอาศัยการหายใจทางจมูก ถ้าคัดจมูกก็จะทำให้ดูดไม่สะดวก เลยไม่ยอมดูด ดูดไป ร้องไป งอแงไป
  •  หากลูกปฏิเสธจากสาเหตุใด แล้วรีบแก้ไขให้ถูกต้องและตรงจุด ลูกก็จะกลับมาดูดนมจากเต้าได้เหมือนเดิม

เรื่อง : พ.ญ.วิมล เสกธีระ กุมารแพทย์

ภาพ : โรงพยาบาลเวชธานี

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up