ต้นกล้า เกษตรกรดีเด่น

ชีวิตนี้จะไม่จน! ถ้าได้รู้จัก อธิศพัฒน์ วรรณสุทธิ์ เกษตรกรยุคดิจิทัล เจ้าของรางวัล Smart Farmer

ต้นกล้า เกษตรกรดีเด่น
ต้นกล้า เกษตรกรดีเด่น

เป็นเวลา 7 ปีแล้วที่ dtac จับมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จัดประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อเฟ้นหาเกษตรกรต้นแบบ หรือ Smart Farmer ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเกษตร เหมาะกับการเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรยุคใหม่

และนี่คือโฉมหน้าของผู้ชนะเลิศได้เป็น  Smart Farmer ประจำปี 2558 อธิศพัฒน์ วรรณสุทธิ์ ไปดูกันว่าเขาคิดและทำสิ่งใดจนคว้ารางวัลนี้มาครองได้ บอกเลยว่ามัน get inspiration มว้าก  ที่สำคัญหากใครมีวิธีคิดและวิธีดำเนินชีวิตเฉกเช่นเดียวกับเขา จะไม่มีคำว่า ‘จน’ แน่นอน

O30A9605 rt

อธิศพัฒน์ ในมาดหล่อเนี้ยบสมเป็น Smart Farmer

“เดิมครอบครัวผมทำการเกษตรเชิงผสมผสานอยู่แล้วครับ แต่พอผมได้ทุนมหิดล จึงต้องทำงานใช้ทุนเป็นพยาบาลผู้ป่วยหนัก ที่ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่พักใหญ่ ทำให้ได้เห็นคนเจ็บป่วยและเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอาหารการกินที่มีสารเคมีเจือปน หรืออาชีพที่ต้องสัมผัสกับสารพิษอยู่เป็นประจำ เช่น คนงานบางคนต้องฉีดยาฆ่าหญ้าทุกวัน สุดท้ายกลายเป็นเจ้าชายนิทรา ทั้งหมดนี้มาจากชาวไร่ชาวนาในประเทศเรามีความเชื่อเรื่องการใช้สารเคมีมานาน เอะอะอะไรก็ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง สุดท้ายแล้วสารเคมีเหล่านี้ก็กลับมาทำร้ายเราเอง การจะแก้ปัญหาจึงต้องย้อนกลับไปที่การเพาะปลูกที่หลีกเลี่ยงสารเคมี หรือ เกษตรอินทรีย์ โดยอาศัยหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงตามที่ในหลวงทรงให้แนวทางไว้ คือ ใช้ปัจจัยที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์  ไม่ต้องไปพึ่งปัจจัยภายนอก ธรรมชาติจะสร้างสมดุลให้เอง

“หลังจากใช้ทุนหมด ผมตัดสินใจลาออกมาทำการเกษตรกับครอบครัวที่อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นค่อนข้างกันดาร ขาดแคลนน้ำและไฟฟ้า ผมจึงนำวิธีผลิตแก๊สเชื้อเพลิงจากขยะเหลือทิ้งมาใช้ โดยนำเศษอาหารเปียกหรือเศษพืชมาหมักกับจุลินทรีย์ต่างๆ ประมาณ 2 วัน ระหว่างที่จุลินทรีย์ย่อยเศษอาหารนั้นจะเกิดพลังงาน คือแก๊สลอยขึ้นมา เราก็นำแก๊สนี้ไปใช้งาน แต่ช่วงแรกมีปัญหาว่า แก๊สที่ได้มีเขม่าดำ ไม่สามารถนำไปใช้กับเครื่องยนต์ ผมจึงทดลองเปลี่ยนเชื้อจุลินทรีย์ไปเรื่อยๆ จนพบว่า จุลินทรีย์จากหน่อกล้วยเวิร์คที่สุด เพราะย่อยสลายได้หมด เป็นแก๊สบริสุทธิ์ ไม่มีเขม่าดำ สามารถนำมาทำอาหาร ปั่นเจเนอเรเตอร์เพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าได้ หรือปั่นไฟเพื่อใช้สูบน้ำขึ้นมาใช้ในการเกษตรได้อีกต่อ นอกจากนี้ยังอัดลงถังเป็นแก๊ส NGV ไว้เติมรถยนต์และเครื่องปั่นไฟฟ้าได้ด้วย ทุกวันนี้ผมปั่นไฟได้ 20 กิโลวัตต์ ใช้ได้ครึ่งหมู่บ้าน และถ้าใครอยากได้แก๊ส หิ้วถังเปล่ามาขอผมได้เลย แต่มีข้อแม้ว่าต้องเอาขยะเปียกมาแลก (ยิ้ม)

12545737_548972128596857_320489080_o

อธิศพัฒน์ กับแปลงผักเกษตรอินทรีย์

“ส่วนจุลินทรีย์หน่อกล้วยนั้นก็ทำเองได้ง่ายมากๆ ครับ แค่นำต้นกล้วยเล็กๆ ที่เรียกว่า หน่อกล้วยมาสับ แล้วหมักกับกากน้ำตาล อัตราส่วน 3 ต่อ 1 เช่น ต้นกล้วย 3 กิโลกรัม ต่อ กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม หมักไว้ในถังพลาสติกประมาณ 7 วัน ก็จะกลายเป็นจุลินทรีย์หน่อกล้วย ซึ่งใช้ประโยชน์ได้มากมาย นอกจากนำมาหมักกับขยะจนได้แก๊สแล้ว ยังสามารถนำไปใช้กำจัดวัชพืชแทนยาฆ่าหญ้าหรือสารเคมีจำกัดวัชพืช ราดตามท่อ โถส้วม หรืออ่างล้างจานเพื่อขจัดกลิ่น

12557184_548966658597404_2093798289_o

อธิศพัฒน์ ในบทบาทอาสาสมัครให้คำแนะนำกับเกษตรกร สมาชิกมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด

“ผลที่ได้จากการหมักแก๊สใช้เอง ทำให้เรามีพลังงานทดแทน ทั้งยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้สูงกว่า 90% เลยทีเดียว แถมยังลดปัญหาขยะและมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมไปในตัวด้วย ผมว่าหมดยุคแล้วที่เกษตรกรจะต้องจน เป็นเกษตรกรก็รวยได้ บ้านเราดินดีน้ำดีกว่าประเทศอื่นตั้งเยอะ เพียงแต่เราต้องมีองค์ความรู้ โดยเฉพาะในภาคปฏิบัติ ที่จะทำให้เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ และถ้าเรารู้จักการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตรด้วย ก็จะช่วยลดทั้งต้นทุนและประหยัดเวลา ทำให้เราสามารถใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า ได้ผลตอบแทนมาก ใช้เวลาน้อยลง มีเวลาไปพัฒนาเรื่องอื่นๆ ต่อ

“ต้องขอบคุณดีแทคที่ทำโครงการดีๆ แบบนี้ขึ้นมา เพราะช่วยจุดประกายให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจทำการเกษตรมากขึ้นผ่านนวัตกรรมและการแชร์ความรู้ด้านต่างๆ ผมเองก็เป็นอาสาสมัครให้คำแนะนำกับเกษตรกร ผ่านมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดมานานแล้ว โดยจัดผ่านรายการวิทยุและเดินทางไปดูเอง ไปมาแล้ว 77 จังหวัด ทำให้เห็นว่าเราช่วยเขาได้จริงๆ แม้จะไม่ได้เงิน แต่ถ้าช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

ผมก็มีความสุขแล้วครับ

เรื่อง : Tomalin

ภาพ : กฤตธี

Praew Recommend

keyboard_arrow_up