“ความทุกข์ของประชาชนนั้น รอไม่ได้” 7 ทศวรรษ เอกอัครราชาแห่งแผ่นดิน

นับตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคตอย่างกะทันหัน ในท่ามกลางความทุกข์โศกสลดทั้งแผ่นดิน รัฐสภาได้เปิดประชุมเป็นกรณีเร่งด่วนในช่วงค่ำคืนนั้น พร้อมกับลงมติเห็นชอบตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่

70 years king bhumibol

ขณะนั้น หลายฝ่ายต่างวิตกกังวลกันว่า สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระอิสริยศักดิ์ในเวลานั้น) อาจไม่ทรงยินยอม จนเมื่อเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ตลอดถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง รวมถึงนายกรัฐมนตรีและคณะนายกรัฐมนตรี ได้เข้าเฝ้าฯกราบบังคมทูลว่า สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงเป็นผู้มีสิทธิในราชบังลังก์นั้น

สมเด็จพระราชชนนีจึงได้ตรัสถามพระราชโอรสต่อหน้าที่ประชุมทั้งมวลว่า “รับไหมลูก”

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชมีรับสั่งสั้น ๆ เพียงว่า “รับ”

70 years king bhumibol
นับจากนาทีนั้น ประวัติศาสตร์ของยุวกษัตริย์พระองค์ที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพระองค์ที่สองแห่งราชสกุล “มหิดล” ได้เริ่มต้นขึ้นจากวันนั้นถึงวันนี้ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของชาติไทยและของโลก ทรงเป็นพระราชาผู้ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนของพสกนิกรมาอย่างยาวนานจนครบ 70 ปีบริบูรณ์ในปีนี้

เมื่อแรกเถลิงราชย์

เมื่อแรกเริ่มของการครองราชย์ ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุ 18 พรรษา และไม่เคยตระเตรียมพระราชหฤทัยที่จะมาทำหน้าที่นี้ พระองค์ทรงคิดแค่ว่าจะครองราชสมบัติเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเพื่อจัดงานพระบรมศพให้กับพระเชษฐาอย่างสมเกียรติเท่านั้น แต่การเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก็ทรงตระหนักถึงหน้าที่อันใหญ่หลวงนี้ จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ให้สำเร็จเพื่อกลับมาพัฒนาประเทศและดูแลประชาชน

70 years king bhumibol

ราชาภิเษกสมรสและบรมราชาภิเษก

ในช่วงระหว่างที่ทรงศึกษาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงพระราชประดิพัทธ์กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาในพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ กับหม่อมหลวงบัว(สนิทวงศ์) จึงทรงหมั้นด้วยพระธำมรงค์เพชรมีหนามเตยเป็นรูปหัวใจเล็กๆ ที่สมเด็จพระบรมราชชนกเคยพระราชทานหมั้นสมเด็จพระราชชนนี โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นอย่างเรียบง่าย ณ วังสระปทุม และโปรดเกล้าฯให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ต่อมา ในวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง พระองค์ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ประทับเหนือราชอาสน์บัลลังก์ทอง เฉลิมพระปรมาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” และพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการด้วยพระราชอำนาจสมบูรณ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นว่า

70 years king bhumibol
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

อีกทั้งในวารมหามงคลนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศให้สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี หลังจากนั้นเสด็จฯกลับไปทรงรักษาพระพลานามัยที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อันเนื่องมาจากทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 จนกระทั่งเสด็จนิวัตเมืองไทยเมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 และประทับในแผ่นดินอันเป็นมาตุภูมิอย่างเป็นการถาวรนับแต่นั้น

ทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธา

ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชด้วยทรงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ด้วยมีพระราชดำริว่าเป็นศาสนาประจำชาติ ยิ่งทรงมีโอกาสคุ้นเคยกับหลักการและทางปฏิบัติ
ของพุทธศาสนิกชน ระหว่างที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ก็ทรงพระราชศรัทธายิ่งขึ้น เพราะทรงประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วยเหตุผลและ
สัจธรรม ทั้งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบูรพการีตามคตินิยมอีกทางหนึ่งด้วย จึงทรงลาผนวชและทรงออกผนวช ณพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และเสด็จฯ
ไปประทับที่พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

70 years king bhumibol

เสด็จเยือนต่างประเทศเพื่อสานไมตรี

นอกจากเสด็จฯเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังได้เสด็จฯเยือนประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสานสร้างสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศ ระหว่างประชาชนกับประชาชน ทั้งในยุโรปและอเมริกาในช่วง ปี พ.ศ. 2503 – 2504  แต่ประเทศแรกที่ทรงเสด็จเยือนต่างประเทศนั้นอยู่ในแถบอาเซียนเพื่อนบ้านเรา ก็คือประเทศเวียดนาม เมื่อปลายปี พ.ศ. 2502

70 years king bhumibol

องค์อัครศิลปิน ผู้เปี่ยมความสามารถ

ตลอดช่วงเวลานับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองสิริราชสมบัตินั้น ทรงแสดงถึงพระอัจฉริยภาพในด้านต่าง ๆ ให้พสกนิกรไทยและชาวโลกได้ประจักษ์ ทรงได้รับการยกย่องว่า ทรงเป็นพหูสูตร
ในศาสตร์แทบทุกสาขา ทั้งทางสายวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์โดยเฉพาะทางศิลปศาสตร์นั้น ทรงเป็นเอตทัคคะ ทรงเปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถทางศิลปกรรมประกอบด้วย จิตรกรรม ประติมากรรม
การถ่ายภาพ หัตถกรรม วรรณศิลป์ และดนตรี ฯลฯ จนทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “อัครศิลปิน” หมายถึง ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศหรือผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน
70 years king bhumibol

พระราชาแห่งการพัฒนา

พระอัจฉริยภาพด้านหนึ่งที่มิอาจกล่าวข้ามได้คือ “ในด้านการพัฒนา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเกษตรกรรม ทรงเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่อง
มาจากพระราชดำริต่าง ๆ จึงปรากฏขึ้นมากมายทั่วประเทศ และส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการจัดการพัฒนาแหล่งน้ำตั้งแต่ฝนหลวง เขื่อน อ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำใต้ดิน ตั้งแต่ภูเขาสู่ทะเล ทรงฟื้นป่า มีฝายชะลอความชุ่มชื้น ทรงเน้นถึงการดูแลฟื้นฟูทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืน ให้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดไป

หน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดิน

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2503 นั้นบรรดานักหนังสือพิมพ์อเมริกันได้กราบทูลถามถึง “หน้าที่พระเจ้าแผ่นดินของพระองค์เป็นอย่างไร” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส
ตอบด้วยพระปรีชา ซึ่งหนึ่งในพระราชดำรัสที่น่าจดจำครั้งนั้น พระองค์ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ไว้ว่า

70 years king bhumibol

“…ตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินในปัจจุบันนี้ไม่มีหน้าที่ที่จะบริหารประเทศ ต้องมีฝ่ายบริหารทำให้งานการทุกอย่างของชาติดำเนินไปได้ด้วยดี ต่างคนต่างมีหน้าที่แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น
เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัวโดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นและก็ช่วยกันทำ…”

ตลอด 70 ปีบริบูรณ์ที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์
ที่ทรงงานหนักมากที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก แม้ในยามที่ทรงพระประชวรก็ยังทรงงานอยู่ ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินตลอด 24ชั่วโมง หากจะเปรียบประเทศไทยเป็นดังรูปพีระมิด พระองค์ก็เปรียบดังประทับอยู่บนยอดพีระมิดของสังคมแต่เป็นพีระมิดหัวกลับ นั่นหมายถึงว่าพระองค์ได้ประทับอยู่ด้านล่าง ทำให้ทรงต้องเป็นผู้รองและแบกรับปัญหาทุก ๆ อย่างของประชาชน จึงทรงมีรับสั่งกับบรรดาบุคคลที่ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ อยู่เสมอว่า…

“ความทุกข์ของประชาชนนั้น รอไม่ได้”

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 883 ปักษ์ 10 มิถุนายน 2559

Praew Recommend

keyboard_arrow_up