คลั่งผอมจนเกือบตาย! เรื่องจริงของหญิงสาวผู้รอดชีวิตจากโรค Anorexia Nervosa

Anorexia Nervosa (อะนอเร็กเซีย เนอร์โวซา) หรือโรคคลั่งผอม ที่เกิดจากคนมีทัศนคติผิดๆ ต่อรูปร่าง และน้ำหนักตัว คนที่เป็นโรคนี้จึงกลัวอ้วนเอามาก ๆ เห็นน้ำหนักตัวเองเป็นศัตรู และนำไปสู่การปฏิเสธการรับประทานอาหารอย่างมากจนผ่ายผอม 

‘เมษา’  ภณิตา ฉัตรทิวาพร หญิงสาวเจ้าของรอยยิ้มสดใสในวันนี้ ทว่าวันวานที่ผ่านมาเธอคือผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยเชื่อว่าผู้หญิงผอมคือผู้หญิงสวย

เธอจึงดำดิ่งเข้าสู่เส้นทางของคนคลั่งผอม กระทั่งป่วยเป็นโรค Anorexia Nervosa ขั้นรุนแรงชนิดที่หัวใจอาจหยุดเต้นได้ทุกขณะ

“เมษาเป็นคนมีรูปร่างสมส่วน แต่เป็นในแบบคนโครงร่างใหญ่มาโดยตลอด กระทั่งช่วงอายุ 16-17 อยากมีกล้ามหน้าท้อง จึงตัดสินใจออกกำลังหน้าท้องทุกคืน โดยศึกษาจากคลิปทางอินเทอร์เน็ต พบว่าถ้าอยากให้เห็นลายกล้ามเนื้อชัดเจนจะต้องเบิร์นไขมันออก จึงเริ่มออกกำลังกายด้วย T25 (การออกกำลังกายทุกส่วนด้วยการเต้นใช้เวลา 25 นาที แต่ให้ประสิทธิภาพเท่ากับการออกกำลังกาย 1 ชั่วโมง) ติดต่อกันทุกคืน ส่วนตอนเช้าตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อบริหารหน้าท้องและคาร์ดิโอ(การออกกำลังกายแบบแอโรบิกเพื่อให้หัวใจเต้นแรง) แต่ยังกินอาหารเป็นปกติ

“สังเกตว่าหลังจากออกกำลังกายไปเรื่อยๆ เริ่มมีกล้ามหน้าท้องให้เห็น พอเปิดเทอมแรกของมัธยม 5 จึงตัดสินใจควบคุมเรื่องอาหารด้วยเพื่อให้กล้ามหน้าท้องชัดขึ้น โดยให้คุณแม่ทำข้าวกล่องไปกินที่โรงเรียน บอกท่านตลอดว่าห้ามทำอาหารทอด อย่าใส่น้ำตาลเยอะ เน้นผัก ฯลฯ เวลากินก็แทบไม่แตะข้าวเลย ส่วนขนมหวานกับน้ำหวานงดเด็ดขาด ก่อนออกกำลังกายน้ำหนักอยู่ที่ 51 กิโลกรัม แต่พอเมษาเปลี่ยนวิถีชีวิต น้ำหนักก็ลดลงไปเรื่อยๆ โดยไม่สังเกตตัวเองว่าผอมลง ทุกเช้าเวลาส่องกระจกจะดูแค่ว่ามีกล้ามหน้าท้องแล้วหรือยัง

“ช่วงนั้นเมษาเครียดเรื่องเรียนด้วย เพราะต้องเตรียมตัวเอนทรานซ์ ทุกกลางวันจึงกินข้าวกล่องอยู่บนห้องเรียน พร้อมกับอ่านหนังสือไปด้วย แต่เพราะแทบไม่ได้กินคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาล ทำให้อารมณ์แปรปรวน แค่เพื่อนพูดเสียงดังก็เหวี่ยงแล้ว จนเพื่อนไม่กล้าเข้าหา ส่วนความสัมพันธ์กับที่บ้านแย่ยิ่งกว่า เพราะพอมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการกินก็ไม่อยากออกไปกินข้าวนอกบ้าน ที่บ้านจึงไม่เข้าใจว่าเราเป็นอะไร ช่วงนั้นทะเลาะกันบ่อยมาก

“อาการเริ่มออกชัดเจนตอนปิดเทอมภาคเรียน เนื่องจากมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น จึงเพิ่มเวลาออกกำลังกายทั้งเช้า กลางวัน เย็น ส่วนใหญ่เน้นแบบคาร์ดิโอหนักๆ ให้หัวใจเต้นเร็วๆ แต่แทบไม่รู้สึกเหนื่อยเลย ทั้งที่กินอาหารน้อยมาก ตอนนั้นน้ำหนักเหลือเพียง 40 ต้นๆ เท่านั้น

“วันหนึ่งเล่นอินเทอร์เน็ตแล้วเจอคำว่า Anorexia Nervosa พออ่านแล้วรู้สึกว่าอาการตรงกับตัวเองทุกข้อ เช่น ติดการออกกำลังกายอย่างหนัก กินน้อยเพราะกลัวอ้วน ถ้าวันไหนตื่นเช้ามาแล้วพุงป่องจะเครียด ที่สำคัญคือไม่เชื่อว่าตัวเองผอม ทั้งที่ช่วงนั้นคนรอบข้างทักว่าผอมมาก เห็นกระดูกชัดเจน ขนาดเวลานั่งเก้าอี้ที่โรงเรียนต้องใช้เบาะรอง เพราะกระดูกก้นกบทิ่มกับเก้าอี้ไม้จนเจ็บก็ยังคิดว่าตัวเองอ้วน

“ชั่งใจอยู่สักพักจึงยอมปรึกษาคุณแม่ ท่านอยากให้ไปหาหมอ แต่เมษาคิดว่าโรคนี้น่าจะรักษาได้ด้วยตัวเอง จึงบอกว่าอยากลองปรับพฤติกรรมดูก่อน คุณแม่ก็ยอม เพราะคิดว่าถ้าไปหาหมอแบบถูกบังคับคงไม่ได้ผล เมษาเริ่มกินขนมให้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังออกกำลังกายเยอะ ผลคือผอมหนักกว่าเดิม

“ที่พีคสุดคือน้ำหนักลดเหลือ 36 กิโลกรัม ร่างกายเหมือนกระดูกเดินได้ ผลจากการได้รับสารอาหารไม่พอ ผมจึงร่วงมาก รู้สึกเหนื่อยง่าย มีอาการวูบโดยเฉพาะเวลาลุกนั่ง บวกกับหายใจลำบาก สูดหายใจได้ไม่เต็มที่ หนักสุดคือประจำเดือนขาดติดต่อกันประมาณ 4 เดือน รวมทั้งร่างกายหยุดโต ปกติสังเกตว่าแต่ก่อนจะสูงขึ้นทุกๆ ปี คราวนี้หยุดสูงไปเลย ที่แย่คือร้องไห้แทบทุกคืน เพราะเครียดทั้งเรื่องเรียนและการลดน้ำหนัก ถ้าได้ยินเพื่อนพูดคำว่าไดเอตจะเครียดทันที กลัวเพื่อนออกกำลังกายเยอะกว่าเรา ครูประจำชั้นสังเกตเห็นความผิดปกติว่าเมษาเข้ากับเพื่อนไม่ได้ นั่งทำหน้าโกรธโลกทั้งวัน จึงโทร.มาคุยกับคุณแม่ และนั่นเป็นจุดตัดสินใจเด็ดขาดว่าต้องไปโรงพยาบาล

“คุณแม่พาไปพบจิตแพทย์และคุณหมอโภชนาการที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ตอนวัดความดันค่าออกมาต่ำมาก อยู่ที่ 45-70 (ความดันปกติอยู่ที่ 80-120) มีโอกาสที่หัวใจจะหยุดเต้นได้ทุกเมื่อ คุณหมอบอกว่าที่ร่างกายขาดประจำเดือนเป็นเพราะไม่มีไขมันไปสร้างฮอร์โมน จึงให้เข้าเครื่องเอ็มอาร์ไอสแกนสมองด้วย พบว่ามีเนื้องอกติ่งเล็กๆ อยู่ที่ต่อมใต้สมอง คุณหมอจึงแจ้งคุณแม่เพิ่มว่าที่ประจำเดือนไม่มาอาจเป็นเพราะต่อมใต้สมองเกิดอาการผิดปกติร่วมด้วย แต่ตอนนั้นคุณแม่ไม่บอกเมษาเพราะกลัวเครียด

“คุณหมอโภชนาการสั่งให้หยุดการออกกำลังกายทุกอย่าง ให้อาหาร เสริมวิตามิน และยามากิน รวมแล้วประมาณมื้อละหนึ่งกำมือ ส่วนจิตแพทย์เป็นเหมือนที่ปรึกษาเรื่องอาหาร ตั้งคำถามให้คิด เช่น ถ้ากินวันนี้ คิดว่าพรุ่งนี้จะอ้วนขึ้นทันทีเลยไหม และมีเงื่อนไขว่าทุก 2 สัปดาห์ที่พบกัน น้ำหนักจะต้องขึ้น  0.5 -1 กิโลกรัม ห้ามลดลงเด็ดขาด พอรักษาที่โรงพยาบาลไปสักพักก็มีคนแนะนำให้ไปรักษากับแพทย์แผนจีนที่พัทยาร่วมด้วย ใช้วิธีการฝังเข็ม คุณหมอฝังเข็มตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าเพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร รวมทั้งมียาสมุนไพรให้กินบำรุงเลือดและปรับสมดุลในร่างกาย

“ช่วงแรกที่รักษาเมษายังกินไม่ได้เพราะร่างกายไม่ชิน คุณพ่อคุณแม่จะคอยบอกว่า ‘กินเพื่อพ่อแม่นะ’ คำพูดนั้นทำให้กินได้มากขึ้น บวกกับเมษามีความฝันอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งร่างกายต้องแข็งแรง ที่สำคัญคือกลัวตาย ในชีวิตยังมีหลายอย่างที่อยากทำ ถ้าตายไป คงรู้สึกผิดกับคุณพ่อคุณแม่ เราไม่อยากตายแบบไร้ค่า นั่นคือจุดเปลี่ยน ที่ทำให้กินอาหารมากขึ้น กินขนม ทั้งช็อกโกแลต เค้ก ไอศกรีม แต่แทบไม่รู้รสชาติเพราะลิ้นไม่รับรส อย่างเวลากินปลานึ่งมะนาว คุณแม่ต้องเติมมะนาวให้เยอะมากจึงจะรู้สึกเปรี้ยว กินไปสักพักร่างกายก็ค่อยๆ ปรับสมดุลได้

“เมษาตัดสินใจงดออกกำลังกายด้วย ทำให้น้ำหนักขึ้นมาที่ 48 กิโลกรัม ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติหลังจากขาดหายไปเกือบ 1 ปี พอเห็นว่าอาการหลายอย่างโอเคแล้ว คุณแม่จึงบอกความจริง เรื่องต่อมใต้สมองและพาไปสแกนเอ็มอาร์ไออีกครั้ง พบว่าติ่งเนื้อชิ้นนั้นหายไปแล้ว ผมหยุดร่วง ความดันและการเต้นของหัวใจขึ้นมาเป็นปกติ รวมทั้งอารมณ์ก็กลับมาคงที่ เพื่อนที่โรงเรียนเห็นว่าเราดีขึ้นก็กลับมาคุยด้วยเหมือนเดิม

“ที่ดีใจที่สุดคือ เมษาเอนทรานซ์ติดคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ปัจจุบันน้ำหนัก 53 กิโลกรัม ออกกำลังกายบ้าง แต่ไม่หักโหมอย่างแต่ก่อน กินอาหารได้เป็นปกติ ถ้าชั่งน้ำหนักแล้วลดลงจะรู้สึกเครียดมากกว่า เพราะกลัวจะกลับไปเป็นอย่างเดิม ตอนนี้เมษาเรียนรู้ที่จะทำความรู้จักกับร่างกายของตัวเองว่าความที่โครงร่างของเราใหญ่ จึงไม่มีทางที่จะทำให้ร่างกายผอมแบน เหมือนคนตัวเล็กๆ ได้ และทุกคนมีรูปร่างที่เหมาะกับตัวเองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร นั่นทำให้รู้สึกรักรูปร่างตัวเองมากขึ้น”

เมษาโชคดีที่รอดพ้นจากภาวะดิ่งลึกของโรคคลั่งผอม กระทั่งสามารถมาถ่ายทอดประสบการณ์ร้ายให้เราอ่านได้ เพราะฉะนั้นสาวๆ ที่คิดแต่อยากผอมๆ ลองสำรวจตัวเองว่าวิธีที่คุณใช้บิดเบี้ยวอยู่ไหม ฝากเรื่องของเมษาเป็นอุทาหรณ์เตือนสติไว้ด้วยนะคะ


สถานที่ ร้าน FITB : Fuel in the Blank โทร. 0-2941-3341

ที่มาเรื่อง/ภาพ: คอลัมน์ ‘ครั้งหนึ่ง’ นิตยสารแพรว

Praew Recommend

keyboard_arrow_up