พระปรีชาสามารถด้านชลประทานของในหลวง

เบื้องหลังพระปรีชาสามารถด้านชลประทาน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงงานหนักเพื่อชีวิตร่มเย็นของพสกนิกรไทย

พระปรีชาสามารถด้านชลประทานของในหลวง
พระปรีชาสามารถด้านชลประทานของในหลวง

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ทรงพระปรีชาสามารถโดดเด่นหลายด้าน และมีพระราชกรณียกิจที่พระองค์มีพระราชดำริและทรงปฏิบัติ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและประเทศชาติจำนวนมากเช่นกัน อย่างพระราชกรณียกิจด้านเกษตรและชลประทาน

ก่อนหน้านี้ได้มีคลิปวิดีโอที่หลายคนอาจยังไม่เคยได้ชมเผยแพร่ขึ้นมา เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งและทรงวาดแผนที่อธิบายถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยในแต่ละภูมิภาค เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2538 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา โดยทรงเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ขึ้นมาบนเวทีและไต่ถามพูดคุยถึงเรื่องน้ำท่วมตามแต่ละจังหวัดด้วย และนั่นก็ทำให้คนไทยหลายคนตระหนักเห็นถึงพระปรีชาสามารถ ความใส่พระทัยและความห่วงใยที่พระองค์มีต่อคนไทยทุกภูมิภาค กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงรู้พื้นที่ในประเทศไทยแทบทุกตารางเมตร

คลิป ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งถึงเหตุการณ์น้ำท่วม

เป็นเวลาหลายปีที่พระองค์ได้ทรงทุ่มเทพระวรกาย เสด็จพระราชดำเนินลงพื้นที่สำรวจพร้อมคณะและชาวบ้าน และมีพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ขึ้นมา อย่างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ฯลฯ จนเกิดเป็นอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ซึ่งสร้างขึ้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อกักเก็บน้ำจืดให้ราษฎรมีใช้ การสร้างฝนเทียมเพื่อช่วยเหลือพื้นที่แห้งแล้ง

ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯลงพื้นที่สำรวจพร้อมคณะและชาวบ้าน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสำรวจพื้นที่เพื่อพัฒนาโครงการหลวงด้านชลประทาน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับฟังปัญหาจากชาวบ้าน
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทุ่มเทพระวรกายปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างหนัก เพื่อดูแลราษฎรที่แม้จะอยู่ในที่ห่างไกล

กว่าโครงการด้านเกษตรและชลประทานต่างๆ จากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะสำเร็จออกมาเพื่อให้คนไทยใช้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุขแบบนี้ ไม่ได้สะดวกสบายเลย ซึ่งนายทวี เต็มญารศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญฯ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เผยเรื่องราวและพระบรมฉายาลักษณ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานอย่างหนักผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อว่า ทวี เต็มญารศิลป์ แพรวจึงได้รวบรวมมาให้ได้ชมกัน เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพระปรีชาสามารถด้านชลประทาน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตรโครงการชลประทานขนาดใหญ่

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเปิดโครงการชลประทานขนาดใหญ่

เสด็จฯไปทอดพระเนตรโครงการชลประทานขนาดใหญ่

ทอดพระเนตรโครงการชลประทานขนาดใหญ่

ในช่วงปี พ.ศ. 2500 – 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ทำให้ทรงทราบถึงความจำเป็นของงานชลประทาน

แผนที่พระราชทานแสดงเส้นทางน้ำสายต่างๆ

แผนที่พระราชทานแสดงเส้นทางน้ำ

รอยดินสอสีต่างๆ ที่ทรงลงในแผนที่ แสดงถึงความทุ่มเทที่พระองค์ทรงรอบรู้งานชลประทาน และทรงตั้งมั่นที่จะตอบแทนพระคุณแผ่นดินนี้

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานในถิ่นทุรกันดาร

เป็นเหตุการณ์ที่ประทับใจมากครับ เป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 ที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินด้วยเครื่องเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ทรงเลือกตำแหน่งในแผนที่ 1 ต่อ 50,000 เรียกว่า ห้วยวังคำ เส้นทางน่าจะเป็นทางเกวียน มืดจริงๆ ที่พวกเรานั่งเบียดกันทั้งกรมชลประทาน มีอธิบดี ชาวบ้านนำทาง รองสมุหราชองครักษ์ เกือบสิบคนได้ นั่งไปก็โยกเยกไปมา กว่าจะเจอจุดที่พระองค์ทรงกำหนดก็หลงทาง พระองค์ต้องทรงเรียกชาวบ้านนำทางว่า ไกด์ผี และเรียกถนนที่ไปว่า ทางดิสโก้

ทอดพระเนตรประตูบังคับน้ำ คลองปาเระ และคลองบาเจาะ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตร ประตูบังคับน้ำ คลองปาเระ และคลองบาเจาะ

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรประตูบังคับน้ำกลาง คลองปาเระ และประตูบังคับน้ำต้น คลองบาเจาะ ในเขตตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งกรมชลประทานได้ก่อสร้างสนองพระราชดำริเสร็จใน พ.ศ. 2531

เสด็จฯไปทรงเปิดเขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเปิดเขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

เขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากกองบิน 71 อำเภอพุมพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปทรงเปิดเขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ทอดพระเนตรฝายทดน้ำคลองโต๊ะแก

ในหลวงทอดพระเนตรฝายทดน้ำคลองโต๊ะแก

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตรฝายทดน้ำคลองโต๊ะแก

วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรฝายทดน้ำคลองโต๊ะแก และทรงเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านนากอ ตำบลจอเบาะ อีกทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรถังเก็บน้ำที่โรงเรียนร่มเกล้า บ้านบูเก๊ะปาลัส ตำบลจอหอ ในเขตอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปว่า บริเวณหุบเนินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จากฝายทดน้ำคลองโต๊ะแกไปประมาณ 500 เมตร มีทำเลซึ่งสามารถสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก สำหรับรวบรวมเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเพาะปลูกได้ สมควรสร้างอ่างเก็บน้ำที่บริเวณดังกล่าว สามารถรับน้ำที่ผันมาจากฝายทดน้ำคลองโต๊ะแกลงมาเพิ่มเติม ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตหมู่บ้านนากอและหมู่บ้านข้างเคียงได้จำนวนหลายร้อยไร่ ทำให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี จากการก่อสร้างฝายทดน้ำคลองโต๊ะแกและระบบแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับหมู่บ้านต่างๆ แล้วนั้น สามารถช่วยให้หมู่บ้านและโรงเรียนจำนวนมากมีน้ำกินและน้ำใช้อย่างสมบูรณ์ตลอดทั้งปี สำหรับที่หมู่บ้านนากอ สมควรสร้างถังน้ำอุปโภคบริโภคเพิ่มเติมให้กับโรงเรียนบ้านนากอโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับของโรงเรียนอื่นๆ

ทรงถือแผนที่และทรงคล้องกล้องถ่ายรูปไปด้วยเสมอ
ภาพที่คนไทยเห็นจนชินตายามในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯลงพื้นที่คือ ภาพที่ทรงถือแผนที่และทรงคล้องกล้องถ่ายรูปไปด้วยเสมอ

มีพระราชดำรัสให้สร้างฝายทดน้ำ

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ณ บ้านนากอ ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่า ควรสร้างฝายทดน้ำหรืออ่างเก็บน้ำตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่คลองโต๊ะแกโดยเร่งด่วน เพื่อจัดหาน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคที่บริเวณโรงเรียนร่มเกล้า บ้านบูเก๊ะปาลัส ตำบลยี่งอ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส และสำหรับหมู่บ้านข้างเคียง โดยการส่งน้ำไปให้โดยท่อ นอกจากนี้ฝายหรืออ่างเก็บน้ำดังกล่าวจะสามารถจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่ทำนาของบ้านนากอ ในเขตตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ ได้อีกด้วย

 

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย

ภาพ : แฟนเพจ Facebook – ทวี เต็มญารศิลป์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up