ชุดไว้ทุกข์

In the mood of mourning ย้อนรอยประวัติศาสตร์ของชุดแห่ง “ความรัก ความคิดถึง และคราบน้ำตา” 

ชุดไว้ทุกข์
ชุดไว้ทุกข์

เป็นเวลากว่า 500 ปีแล้วครับ ที่มนุษย์ (สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล สัตว์ที่มีจิตใจสูง) ได้คิดหาเครื่องแต่งกายเพื่อการ “ไว้ทุกข์” ให้กับบุคคลอันเป็นที่รัก แม้ว่าจะมีให้เห็นในหลากโทนสี ทั้งม่วงเข้ม เทา ขาว หรือแม้กระทั่งเขียวเข้ม แต่ท้ายที่สุดแล้ว “สีดำ” ก็เป็นสีที่ถูกเรียกหามากที่สุด

Pound_Praewnista ขอพาย้อนกลับไปดูที่มาของชุดไว้ทุกข์ จากกว่า 100 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน เพราะทุกเรื่องราวมีที่มา และเพราะว่า “เสื้อผ้า” ไม่ใช่เพียงสิ่งนอกกาย

b9ff6d74625a33f8da2b1dcd2edd4ce42e8abb00

2 22

ไม่สามารถระบุวันเริ่มต้นที่แน่ชัดได้ครับ ว่าใครคือผู้ริเริ่มคนแรกของโลกที่ลุกขึ้นมาบัญญัติให้มีการแต่งกายเพื่อวาระแห่งการไว้ทุกข์ แต่จากหลักฐานหลายแหล่งให้ความสำคัญไปที่พวกยุโรเปียน (ชาติที่มักยกตัวเองเป็นผู้นำด้านเสื้อผ้า) เป็นกลุ่มแรกที่ใส่ เพราะในช่วง Middle Age หรือช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 – 15 ยุโรปได้ออกกฎ แต่ไม่ใช่กฎหมายนะครับ เป็น Sumptuary Laws คือกฎระเบียบของเหล่าผู้ร่ำรวยหรือผู้ดีเก่ายุคนั้น ต้องเข้าใจอย่างนี้ครับว่าค่าที่ยุโรปมีประวัติศาสตร์ยาวนาน กลุ่มขุนนางเก่าแก่ก็มีมาก แต่ในขณะที่การค้ายุคนั้นก็เริ่มเจริญรุ่งเรือง คนรวยใหม่ก็มีเพิ่มขึ้น ชนชั้นที่คิดว่าตัวเองต้องเลิศต้องเก๋กว่าคนอื่นๆก็เลยออกกฎนี้ขึ้นมา เป็นกฎและระเบียบของเครื่องแต่งกาย ทั้งงานมงคล งานร้าย งานน้ำชา และอีกหลายๆงานครับ! แม้หลายเสียงจะบอกว่าพวกเขาออกกฎเพื่อแบ่งชนชั้นทางสังคม แต่ลึกที่สุดในใจผมว่า “ถ้าพวกเขาไม่รู้สึกเสียใจ รำลึก และคิดถึงผู้ตาย” ชุดไว้ทุกข์คงไม่ถูกระบุไว้ในกฎแน่ๆ ซึ่งกฎนั้นก็คือ ขุนนางทั้งหลายต้องใส่ชุด “สีดำ” เพื่อเข้าพิธีศพนั่นเอง โดยชุดในยุคนั้นหนักไปที่การใช้ผ้าหรูหรา ซึ่งความยาวของผ้าคือตัวชี้ฐานะ และนิยมตกแต่งปลายด้วยผ้าเครป (Crape) สีขาวหรือสีดำ ที่สำคัญต้องมีหมวกใบใหญ่เป็นการคอมพลีตลุคอันสมบูรณ์ หลังจากนั้นไม่นาน “โทนดำ” ที่ว่านี้ก็ส่งอิทธิพลถึงชุดของพระสงฆ์ พ่อค้า จนถึงคนทั่วไปทั้งชายและหญิงในเวลาต่อมา

แม้ว่าการใส่ “ชุดไว้ทุกข์” จะเกิดขึ้นในยุคกลางของยุโรป แต่โลกกลับยอมรับความสำคัญอันยิ่งใหญ่ของเครื่องแต่งกายนี้ในยุคทองของยุควิกตอเรีย (Victoria Era) หรือในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เหตุเพราะสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) ทรงสวมใส่ฉลองพระองค์สีดำตั้งแต่การจากไปของเจ้าชายอัลเบิร์ต (Prince Albert) ตั้งแต่ปี 1861 จนถึงวันสุดท้ายของพระองค์เอง (ปี 1901) นั่นด้วยเพราะพระองค์ทรงเข้าพระทัยถึงความเศร้าโศกอย่างที่สุด พระองค์ไม่เพียงแค่อยากบอกให้โลกรับรู้ว่าพระองค์ทรงทุกข์ แต่พระองค์ทรงต้องการบอกตัวเองว่านอกเหนือจากความเสียใจที่มีนั้น คุณค่าของความเป็นคนที่รักและซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกสูญเสียเป็นเช่นไร

1 5 12

ซึ่งทั้งหมดนั้นได้ทำให้เกิดบรรทัดฐานแห่งการใส่ชุด “ไว้ทุกข์”  โดยเน้นไปที่หญิงม่าย (Widow) จะยึดถือการไว้ทุกข์ยาวนานเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ซึ่งมีหลักการในการแต่งต่างกันออกไป

ปีแรก (Full Mourning) จะใส่ชุดสีดำเท่านั้น ไม่มีการปักประดับใดๆทั้งสิ้น ต้องสวมผ้าปิดหน้าตลอดเวลาเมื่ออยู่นอกบ้าน ไม่คบค้าสมาคมถ้าไม่จำเป็น แม้กระทั่งกับลูกด้วยเช่นกัน

ปีที่ 2 (Second Year) มีเครื่องประดับปักประดับเพิ่มได้ เช่น ตัวชุด ปลายกระโปรง ชายแขนเสื้อมีการตกแต่งขอบด้วยลูกไม้หรือเครปได้ตามสมควร แต่โทนสียังคงเป็นสีดำเท่านั้น

ครึ่งปีสุดท้าย (Half Mourning) ชุดสามารถเป็นสีอื่นที่ไม่ใช่สีดำได้ นั่นคือสีเทา สีม่วง หรือสีม่วงก่ำ

5 52

“ชุดไว้ทุกข์” แบบที่ว่านี้ได้ถูกยึดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมายาวนาน เริ่มต้นจากการเป็น “ชุดเพื่อความเศร้าโศก” สู่ “ชุดเพื่อมารยาททางสังคม” ซึ่งผู้ที่เรียกตัวเองว่า “มนุษย์” พร้อมใจกระทำเรื่อยมา แต่ด้วยความรุ่มรวยของดีเทลชุดและความฟุ่มเฟือยของการจัดเตรียม ชุดไว้ทุกข์แบบเดิมจึงถูกลบเลือนไปในที่สุด จนเข้าสู่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความฟุ่มเฟือยที่ว่าจึงถูกลดทอนลงเหลือแค่ “สีดำ” แต่ความหมายทั้งหมดยังคงเดิม นั่นก็เพื่อ “รำลึกถึงผู้เป็นที่รัก” และเป็นการประกาศให้สังคมรับรู้ถึงความเสียใจที่มากเกินกว่าจะพูดออกมาได้ เสื้อผ้าจึงไม่ใช่แค่เรื่องฉาบฉวย เฉกเช่นกับความรู้สึก “รัก คิดถึง” ที่มากทวีใจ แต่ต้องทนกับความ “สูญเสีย” และการจากไปของบุคคลอันเป็นที่สุดของดวงใจก็ด้วยเช่นกัน

และถ้าการสวมชุดเพื่อ “ไว้ทุกข์” คือการแสดงความรักอีกทางหนึ่ง มันก็เป็นเรื่องดีไม่ใช่หรือ เพราะอย่างน้อยชุดนั้นก็เป็นพลังอย่างหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาหัวใจที่ทุกข์ให้ดีขึ้นได้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ซึ่งช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับหัวใจของแต่ละคน

ด้วยรักและคิดถึงสุดหัวใจ

เรื่อง :  pound_Praewnista

Praew Recommend

keyboard_arrow_up