ท้องเสียเรื้อรัง

ท้องอืด ท้องเสียเรื้อรัง เหตุแพ้โปรตีนกลูเตนจากเบเกอรี่ ระวังเป็นโรคเซลิแอค

Alternative Textaccount_circle
ท้องเสียเรื้อรัง
ท้องเสียเรื้อรัง

เตือนท้องอืด ท้องเสียเรื้อรัง อย่านิ่งนอนใจ อาจเป็นโรคเซลิแอคได้ เหตุจากแพ้โปรตีนกลูเตนที่มีอยู่ในเบเกอรี่และอาหารจำพวกแป้งบางชนิด ปล่อยไว้มีผลทำให้ลำไส้เล็กถูกทำลายได้

พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่นิยมบริโภคอาหารประเภท เบเกอรี่ อาทิ เค้ก พาย ขนมปัง ข้าวโอ๊ต ซีเรียล ซึ่งในอาหารจำพวกแป้งเหล่านี้จะมีโปรตีนที่เรียกว่า กลูเตน (Gluten) ที่ช่วยทำให้อาหารเหนียวนุ่ม และยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่รับประทานมังสวิรัติและอาหารเจ แต่สำหรับผู้ที่แพ้กลูเตนอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้

การแพ้กลูเตนอาจก่อให้เกิดโรคที่เรียกว่า โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โดยกลูเตนจะทำให้เกิดภาวะลำไส้อักเสบ จากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อตัวเอง (Autoimmune Disease) โดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะสร้างแอนติบอดี้เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อบุเซลล์ที่ลำไส้เล็ก (Microvilli) ส่งผลให้เกิดการอักเสบและฝ่อในที่สุด ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การดูดซึมอาหาร เกลือแร่ วิตามิน ได้ไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีอาการท้องอืด ท้องเสียเรื้อรัง ปวดท้องที่เกิดจากแก๊สในกระเพาะอาหาร โลหิตจาง (Anemia) เนื่องจากดูดกลืนโฟลิกและวิตามิน B12 ได้ไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง กระดูกพรุน ระบบประสาททำงานผิดปกติ ผิวหนังเป็นผื่นบริเวณข้อศอกและเข่า ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ โกธรง่าย ซึมง่าย ในกรณีที่เกิดในเด็กจะทำให้เด็กโตช้า ตัวเล็กกว่าเด็กปกติทั่วไป ในผู้ป่วยโรคเซลิแอคบางรายจะไม่มีอาการเลยก็ได้ แต่โรคดังกล่าวยังคงมีการทำลายลำไส้เล็กอย่างต่อเนื่อง

พบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเซลิแอคประมาณ 1-2% ประชากรไทยพบโรคนี้ได้ 0.3% พบได้มากในคนผิวขาว เป็นได้ในทุกช่วงอายุ แต่จะพบมากสุดในกลุ่มช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป โดยหากมีพ่อแม่ พี่น้องในครอบครัวเป็นโรคนี้ จะมีโอกาสที่คนอื่นๆ ในครอบครัวจะเป็นโรคนี้ด้วยถึง 10%

ณิศรา ตีระวัฒนพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ N Health เปิดเผยว่า การวินิจฉัยโรคเซลิแอคนั้นทำได้โดยตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อในลำไส้เล็กเพื่อตรวจยืนยัน เนื่องจากโรคเซลิแอคจะมีอาการใกล้เคียงกับโรคอื่นๆ ของระบบลำไส้ ซึ่งแพทย์จะรักษาตามอาการ จึงมีคนไข้ที่อาจไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเซลิแอค หากไม่ได้รับการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยเบื้องต้นก่อน โดยสามารถตรวจได้ที่ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลทั่วไป

อย่างไรก็ตาม หากตรวจดูอาการของตนเองแล้วพบว่ามีอาการเข้าข่ายแพ้กลูเตน ควรปรึกษาแพทย์พร้อมประวัติการรักษาเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวกับช่องท้อง เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ทั้งนี้หากตรวจแล้วพบว่าแพ้กลูเตน ก็จำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลูเตนเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งอาจจะต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคนมด้วย เพราะผู้ที่เป็นโรคเซลิแอคจำนวนมากมีอาการแพ้นม เนื่องจากไม่สามารถย่อยแล็กโตสได้ นอกจากนี้ควรได้รับการแนะนำจากนักโภชนาการที่มีประสบการณ์โดยตรงในการจัดอาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคเซลิแอค และควรอ่านฉลากอย่างระมัดระวังก่อนที่จะบริโภคอาหารทุกชนิด


ข้อมูล : N Health
ภาพ : Pexels

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

อร่อยแบบ 0 แคลอรี่! ด้วยวิธี ลดน้ำหนัก ง่ายๆ กับอาหารที่ชอบ

3 กฎเหล็กสำหรับ ไดเอท ที่สาวอยากหุ่นโป๊ะเชะ สุขภาพเป๊ะ ต้องทำตาม!

แสงแดดไม่ได้ทำร้ายแค่ผิว! 5 โรคตา ต้องระวังเมื่อต้องสัมผัสยูวี และวิธีป้องกัน

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up