จากรากหญ้าสู่หน้าร้าน! 3 เกษตรกร เผยชีวิตนี้ขอยึดมั่นตามรอย ศาสตร์พระราชา

ศาสตร์พระราชา นั้น ‘ศักดิ์สิทธิ์’

เป็นที่น่าชื่นใจเหลือเกินว่า เกษตรกรทั้ง 10 คนที่ผ่านเข้ารอบการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด จัดโดยดีแทคและมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดในปีนี้ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว แต่ยังคิดถึงชุมชนบ้านเกิด เหมือนเป็นภาพที่สะท้อนถึงสิ่งที่สององค์กรพยายามสร้างมาตลอดกำลังเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ ดังเช่นตัวอย่างของเกษตรกรทั้งสามคนนี้
อายุ จือปา Young Smart Farmer ปี 2559 ‘อาข่า อ่ามา กาแฟชาวดอยสู่ชาวโลก’

“ทุกวันนี้ผมภูมิใจที่ได้บอกใครต่อใครว่า อาข่า อ่ามา เป็นกาแฟที่ปลูกโดยคนไทย ผลิตโดยคนไทย จนถึงคั่วบดชงโดยคนไทย” น้ำเสียงที่คุณลีย้ำแต่ละคำนั้น แสดงถึงความรู้สึกที่ลึกซึ้งกว่าความภูมิใจ เพราะจากความพยายามของชาวเขาเผ่าอาข่า ที่รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานที่อยู่ที่ทำกิน ความรู้ และอนาคตที่ดี ทำให้เขาค่อย ๆ สร้างกาแฟ ‘อาข่า อ่ามา’ ที่หมู่บ้านแม่จันใต้ บนยอดดอยสูงของอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

“เรามีกาแฟขึ้นชื่อคือ Peaberry พิเศษตรงที่เป็นกาแฟเมล็ดกลมต้องคัดด้วยมือทีละเมล็ด ก็จะทำราคาได้สูง จนสามารถสร้างรายได้ยังไม่หักค่าใช้จ่ายประมาณ 9 ล้านบาท เยอะมากจนผมไม่คิดฝันว่าในชีวิตนี้จะได้สัมผัส
ส่วนหนึ่งที่ทำให้อาข่า อ่ามา เติบโตได้ขนาดนี้มาจากผลงานของชาวบ้านมีความรู้ เมื่อได้ลงมือปฏิบัติก็เกิดความภูมิใจที่กาแฟของเขาไปขายที่ไหนก็ไม่อายใคร กาแฟจากชุมชนบ้านแม่จันใต้ยังได้รับการคัดเลือกให้อยู่บนเวทีโลกติดต่อกัน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2553 -2555 ทั้งอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย ที่สำคัญคือชาวบ้านเข้าใจเรื่องการแบ่งปัน ช่วยเหลือ ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเอง รายได้ที่กลับมาสามารถส่งลูกไปเรียนหนังสือ เมื่อลูกหลานมีการศึกษาที่ดีก็กลับมาพัฒนาชุมชน

“วันนี้เราทำงานกับ 5 ชุมชน นำผู้รู้ทั้งในและต่างประเทศไปแลกเปลี่ยน ส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้วิธีการปลูก ต้องใช้น้ำอย่างไร ตากกาแฟให้แห้งเท่าไร เก็บอย่างไรกาแฟจึงมีคุณภาพดี วันนี้ร้อยละ 80ของทีมงานที่ร้านมาจากชุมชนผู้ปลูกกาแฟ แม่ผมกับน้องช่วยประสานทางต้นน้ำที่เชียงราย ส่วนกลางน้ำที่ต้องแปรรูป ทำแพ็คเกจิ้ง นำเสนอลูกค้าจนถึงปลายน้ำผมดูแลเป็นหลัก จนมาถึงจุดที่ผมภูมิใจที่สุดคือน้องในชุมชนสามารถทำการตลาดได้ ปรับปรุงวิธีการผลิต ตั้งแต่การคั่วกาแฟ (Roaster) การชงกาแฟ (Barista) จนถึงเป็นผู้บริหาร ทุกปีผมได้รับข่าวประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดจากมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด แต่ด้วยธรรมชาติของอาข่า อ่ามา ไม่ชอบการแข่งขัน จึงไม่เคยเข้าร่วมในปีนี้มีเสียงสะท้อนของผู้ใหญ่ สื่อ และเพื่อน ๆ ในเครือข่ายที่บอกว่ารายการนี้จะสร้างให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคม สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ในชุมชน ผมจึงคุยกับน้อง ๆ ที่ร้านว่าน่าลอง เพราะเป็นสิ่งที่เราทำอยู่ จากความตั้งใจที่ผมจะไปสร้างพลังให้น้อง ๆ ได้ทำตามฝันของตัวเอง เมื่อได้เจอคนเจ๋งที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 9 คนที่ทำงานเพื่อสังคม ได้เรียนรู้ ได้เห็นเพื่อน ผู้ใหญ่ที่เห็นคุณค่า กลับกลายเป็นพลังให้เรา

“ในฐานะผู้ชนะ ผมดีใจแน่นอน เชื่อว่าจากคนที่ไม่รู้จัก อาข่าอ่ามา ว่าคืออะไร มีที่มาอย่างไร หลังจากได้ออกสื่อ จะช่วยจุดประกายคนที่กำลังฝันอยู่ได้กล้าลงมือทำ หรือคนที่ไม่กล้าฝันก็ได้เริ่มต้นฝันขณะเดียวกันเริ่มมีความหวังว่า พื้นที่เรียนรู้ทางสังคมที่จะเปิดที่แม่ริมมีโมเดลของเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่เก็บกาแฟ คั่วกาแฟ แพ็คกาแฟ
มีแล็บชิมกาแฟ และวนเกษตรตามแนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จำนวน 5 ไร่ อาจมีสักหน่วยงานที่ยินดีลงทุนให้ผู้ที่มีความฝันได้ริเริ่มโครงการของตัวเอง อาจเป็น Startup ของ Social Enterprise ก็ได้ ซึ่งในเบื้องต้นผมหวังว่า ทางดีแทคและมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดคงมีช่องทางบอกต่อกับเครือข่าย อาจเป็นการจัดจำหน่าย หรือช่องทางโปรโมต เป็นสื่อ หรือออนไลน์ คิดดูแค่ในบริษัทชงกาแฟอาข่า อ่ามา แค่บริษัทละ 10 กิโลกรัม 10 บริษัทก็ช่วยเหลือชาวไทยภูเขาได้เยอะแล้ว
“สามารถสร้างได้ ทำได้ตั้งแต่วันนี้เลย”

Praew Recommend

keyboard_arrow_up