งานหนักไม่ทำให้ใครตาย? อดีตพนักงานออฟฟิศกับโรคที่ทำให้เกือบต้องนอนเป็นผักไปทั้งชีวิต

ใครบอกว่างานหนักไม่ทำให้ใครตายคะ? ตอนนี้มีข่าวดังไปทั่วโลกถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่มาจากการทำงานหนัก แพรวจึงเลือกหยิบเรื่องนี้มาฝากผู้อื่นที่กำลังเครียดกับการทำงานมาเป็นอุทาหรณ์ค่ะ เป็นเรื่องของคุณจิมมี่ ศิระ ศรีศุภรัตน์ อดีตพนักงานครีเอทีฟโฆษณา กับโรคร้ายที่แม้แต่หมอก็ยังไม่ทราบวิธีการรักษาให้หายขาดมาฝากค่ะ

“ตำแหน่งครีเอทีฟโฆษณาเป็นงานหนัก ชีวิตขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก จึงกดดันและเครียดง่าย งานทุกอย่างต้องเร็ว ทำให้พักผ่อนน้อย นอนดึก มีอยู่ช่วงหนึ่งผมทำงานถึงตี 3 กลับถึงบ้านตี 4 พอ 7 โมงเช้าออกจากบ้านไปทำงานต่อ ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่อย่างนี้ 1 เดือนเต็ม จนกระทั่งวันหนึ่งผมทำงานอยู่ที่ออฟฟิศจนถึง 2 ทุ่ม กำลังปิดจอคอมพิวเตอร์ เก็บของกลับบ้าน รู้สึกว่ามือชาทั้งสองข้าง พอลุกขึ้นเท้าก็ชาทั้งสองข้าง เช่นกัน ผมคิดว่าคงนั่งทำงานนาน ขยับตัวน้อย แต่พอเช้าวันเสาร์สิ่งแรกที่รู้สึกทันทีที่ ตื่นนอนคือปวดหลังและหายใจเหนื่อยหอบ

“ตอนบ่ายอาการยังไม่ดีขึ้น จึงตัดสินใจไปคลินิกรักษาโรคทางระบบประสาทแห่งหนึ่ง อาจเป็นเพราะอาการยังแสดงไม่ชัดเจน หมอจึงสั่งยาบำรุงปลายประสาทมาให้ แล้วบอกว่าพักผ่อนเยอะ ๆ น่าจะดีขึ้น ถึงวันอาทิตย์อาการกลับแย่ลง เริ่มจากยกแขนขาไม่ได้ อาการเหน็บชาไล่จากเท้าขึ้นมาถึงหัวเข่า และลามจากมือมาถึงข้อศอก วันนั้นยังตัดสินใจไม่ไป หาหมอ คิดว่าควรกินยาบำรุงให้หมดก่อน

“เช้าวันจันทร์ผมยังฝืนร่างกายไปทำงานเหมือนเดิม อาการแย่ลงไปอีก คือไม่สามารถเดินขึ้นบันได ต้องค่อย ๆ พยุงตัวขึ้นไปทีละก้าว ๆ เหมือนคนแก่ เริ่มสังเกตว่าเป็นตะคริวได้ง่ายมาก ตั้งแต่ฝ่าเท้า นิ้วเท้า ไปจนถึงบริเวณกล้ามเนื้อเข่าด้านบน เพื่อนเห็นอาการ ไม่ดีเลยจึงบอกให้ไปหาหมอ ผมไปหาที่คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา หมอทางด้านระบบประสาท วิเคราะห์อาการโดยให้ยกขาและลองดัดขาไปมา แล้ววินิจฉัยว่าน่าจะเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง และแนะนำให้ใช้ไฟฟ้าช็อร์ตเพื่อตรวจการทำงานของระบบประสาท โดยแบ่งการช็อร์ตเป็นหน้าอกถึงปลายเท้า ต้นขาถึงปลายเท้า ข้อมือถึงไหล่ ข้อศอกถึงไหล่ ความรู้สึกเหมือนมีไฟวิ่งผ่านตัว บางครั้งก็แปล๊บ ๆ

“แม้ผลจะออกมาว่าระบบประสาททำงานปกติ หมอให้ยาแก้ปวดและยาบำรุง ปลายประสาทมากิน แต่กลับเป็นตะคริวได้ง่ายกว่าเดิม แถมมีอาการไฟช็อร์ตร่วมด้วย บางครั้งเหมือนโดนไฟดูด แต่เป็นแป๊บเดียวก็หาย ส่วนกล้ามเนื้อขาและแขนแย่กว่าเดิม เวลาเดินต้องลากเท้า ช่วงเวลาทรมานที่สุดคือตอนกลางคืน ด้วยความที่เส้นประสาท อ่อนแอ ขณะที่รู้สึกชาก็รู้สึกเจ็บไปพร้อมกันด้วย ถ้าอธิบายให้เห็นภาพคือเหมือนเส้นประสาทออกมาอยู่ด้านนอกของผิวหนัง โดยเฉพาะที่เท้า เอาอะไรไป สัมผัสนิดเดียวจะเจ็บมาก จนต้องใส่ถุงเท้านอนและห่มผ้าห่มโดนเท้าเบา ๆ

“แฟนไปขอคำแนะนำจากคุณหมอฝรั่งท่านหนึ่ง เขาแนะนำให้ไปหา อาจารย์หมอท่านหนึ่งที่เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท ซึ่งมีวิธีการตรวจแตกต่างจากที่แรกคือไม่ได้นอนดัดขา แต่ให้ลองเดิน เขย่งขาทีละข้าง กระโดดถอยหลัง และเดินปลายเท้า ซึ่งผมไม่สามารถทำได้เลย ความรู้สึกเหมือนเส้นยึด หมอวินิจฉัยว่าผมน่าจะเป็นโรคกิลแลง-บาร์เร ซินโดรม (GBS หรือ Guillain-Barre Syndrome) หรือโรคเส้นประสาทหลายเส้นอักเสบ เฉียบพลัน ความแตกต่างของโรคนี้กับ โรคหมอนรองกระดูกอักเสบคือ โรคหมอนรองกระดูกอักเสบจะรู้สึกชาไม่เท่ากัน เช่น ชาแขนขวามากกว่าซ้าย แต่โรคกิลแลง – บาร์เร ซินโดรม ชาเท่ากันทุกส่วนและเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน สาเหตุของโรคเกิดได้หลายอย่าง คือ หนึ่ง คนที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรง สอง ได้รับสารเคมีสะสมเป็นเวลานาน และ สาม ความเครียด ผมไม่เคยแพ้วัคซีน และชีวิตก็ไม่ได้คลุกคลีกับสารเคมี จึงประเมินว่าน่าจะเกิดจากความเครียด โรคนี้พบในไทยน้อยมาก ประมาณ 2 ใน 100,000 และ 5 เปอร์เซ็นต์ของ ผู้ป่วยมีโอกาสตายได้ อาการของโรคจะโจมตีระบบการหายใจและระบบกล้ามเนื้อ คนไข้บางคนแทบเดินไม่ได้ต้องนอนเป็นผักและใส่เครื่องช่วยหายใจไปตลอดชีวิต อีกอย่างคือแม้จะรักษาหาย แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ หมอบอกผมว่าทำได้แค่ให้ยาตามอาการ เช่น เวลาเป็นตะคริวก็ให้ยาแก้ตะคริว ถ้ารู้สึกปวดก็ให้กินยาแก้ปวด รวม ๆ แล้วคือผมกินยาวันละประมาณ 6 เม็ด ที่เหลือต้องดูแลตัวเอง วิธีที่ง่ายที่สุดคือนอนพักผ่อนเยอะ ๆ ห้ามเครียด

“ช่วงที่ป่วยผมตัดสินใจลางานนอนพักอย่างเดียว โชคดีที่ไม่ได้ชาทั้งตัวจนถึงขั้นขยับไม่ได้ ผมยังสามารถนอนอ่านหนังสือ ลุกขึ้นมานั่งดูหนังได้ แต่แทบไม่ได้เดินเลยเพราะไม่มีแรง แม่กับแฟนต้องมาคอยนวดขา จะลุกจะยืนก็ลำบาก โชคดีที่อยู่คอนโดมีลิฟต์ใช้ จึงไม่ต้องลำบากขึ้น – ลงบันได ส่วนด้านจิตใจนั้นยอมรับว่าเบื่อมาก เพราะปกติผมค่อนข้างไฮเปอร์ ทุก ๆ วัน ตารางชีวิตแน่นไปหมด ไม่ทำงานก็ต้องออกกำลังกาย ไปซื้อของไปเยี่ยมแม่ จึงบอกทางออฟฟิศว่าถ้ามีงานก็สามารถส่งมาให้ช่วยได้ ซึ่งผมจะทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่งผ่านทางอีเมล ผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์อาการเริ่มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เดิมรู้สึกเหน็บชาบริเวณต้นขาก็ลดลงมาเหลือแค่หัวเข่า

“ผ่านไป 1 เดือนอาการดีขึ้นมาก กลับมาเดินได้เป็นปกติ พออยู่ว่างนาน ๆ ก็รู้สึกเบื่อ จึงตัดสินใจไปทำงาน ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิด เพราะกว่าจะทำงานเสร็จในแต่ละวันก็ปาไปกว่า 4 ทุ่ม แถมโดนความเครียดจู่โจม งานของผมไม่สามารถ ควบคุมเวลาได้ บางวันต้องออกไปถ่ายงานกับลูกค้า จะกลับก่อนก็ไม่ได้ ทำให้อาการไฟช็อร์ตกลับมาเล่นงาน เหมือนเดิม ผมจึงขอลางานโดยไม่รับเงินเดือน 2 เดือน อาการจึงกลับมาดีขึ้น และตัดสินใจแล้วว่าจะย้ายแผนก ไปทำด้านการวางแผน เพราะไม่จำเป็นต้องอยู่ออฟฟิศดึก ส่งผลดีต่อสุขภาพมากขึ้น จนในที่สุดอาการไฟช็อร์ตก็หายไป รวมแล้วใช้เวลารักษาตัวเป็นเวลาเกือบปีครึ่งจึงหาย แม้บางครั้งจะมีอาการชาและตะคริวหลงเหลืออยู่บ้าง หมอเองก็บอกว่าผมโชคดีที่หายไวกว่าคนอื่น และเตือนว่าถ้าคุณกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมโรคจะกลับมาอีก ต้องพักผ่อน กินอาหารที่มีประโยชน์ และกลับมาตรวจสุขภาพเรื่อย ๆ

“กระทั่งวันหนึ่งผมได้ตรวจสุขภาพกับทางออฟฟิศ ผลสรุปคือน้ำตาลในเลือดสูงมาก เวลาปัสสาวะรู้สึกแสบ หมอตรวจพบว่าผมเป็นโรคเบาหวาน จึงส่งไปเจาะเลือด ปรากฏว่าค่าน้ำตาล สะสมอยู่ที่ 12.6 (คนทั่วไป 4 – 6.5) นั่นหมายถึงผมเป็นโรคเบาหวานเต็มตัว สาเหตุเกิดจากไม่ได้ออกกำลังกายและ กินของหวานมากไปในช่วงที่รักษาตัว หมอรักษาโดยให้กินยาคุมน้ำตาล เช้า 2 เม็ด เย็น 2 เม็ด ด้วยความที่ไม่อยากกินยา ประกอบกับกลับมาออกกำลังกาย ได้แล้วจึงลุกขึ้นไปวิ่งทุกเช้า – เย็น ปรับ พฤติกรรมการกิน งดของหวาน ช่วงที่เป็นเบาหวานผมหนักถึง 98 กิโลกรัม ผ่านไป 1 ปีลดเหลือ 74 กิโลกรัม โรคเบาหวานก็รักษาหายไปด้วย จากบทเรียนครั้งนั้นผมใช้ชีวิตโดยเน้นที่ความสุข ให้เวลากับตัวเองเต็มที่ และไม่ทุ่มให้กับงานจนมากเกินไปนัก “เพราะรู้แล้วว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าสุขภาพ”

ที่มา : คอลัมน์ครั้งหนึ่ง นิตยสารแพรว ฉบับที่ 898

Praew Recommend

keyboard_arrow_up