เส้นทางสายแฟชั่นของพระองค์หญิง กว่าจะเป็นแบรนด์ Sirivannavari ทรงอดทนสู้ไม่ถอย

กว่าจะเป็นแบรนด์ Sirivannavari ที่เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของพระองค์หญิง (พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์) อย่างทุกวันนี้ ทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ พระองค์ทรงทุ่มเทอย่างหนักกับการทรงงาน นับตั้งแต่ที่เริ่มสนพระทัยในด้านแฟชั่น และได้เข้าไปศึกษาทางด้านนี้อย่างจริงจัง

การที่คนเราจะประสบความสำเร็จได้ แน่นอนว่าคงไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันสองวัน แต่จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะความอดทนและมุ่งมั่นที่จะฝ่าฟันกับอุปสรรค ซึ่งเรื่องนี้พระองค์หญิงเองก็เคยสัมผัสมาแล้วเช่นกัน ในวันที่พระองค์คงสถานะเป็นนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์ก็ต้องผ่านบททดสอบพระทัยของพระองค์เองอยู่หลายด่าน จนกระทั่งในวันนี้สิ่งที่พระองค์ปรารถนาในการสร้างแบรนด์ Sirivannavari จึงเกิดขึ้นได้ วันนี้แพรวดอทคอม จึงพาทุกคนย้อนมาดูเส้นทางสายแฟชั่นของพระองค์ เมื่อครั้งทรงประทานสัมภาษณ์ให้กับนิตยสารแพรว ฉบับ625 ปักษ์ 10 กันยายน 2548

ใครที่คิดว่าเกิดเป็นเจ้าคนนายคนแล้วทุกอย่างจะง่ายไปซะทุกเรื่อง อาจจะไม่ใช่เสมอไป โดยเฉพาะกับพระองค์หญิง

ชีวิตนิสิตสายอาร์ต

นับตั้งแต่ที่พระองค์ก้าวเข้ามาเป็นนิสิตในคณะศิลปกรรมศาสตร์ พระองค์ทรงปฏิบัติเยี่ยงสามัญญชนทั่วไป ตั้งแต่การรับน้อง ซ้อมเชียร์ รวมถึงการถูกว้ากจากรุ่นพี่ อีกทั้งการเป็นเจ้าแต่กำเนิดก็ไม่ได้มีอภิสิทธิ์ในเรื่องการแต่งตัวเหนือใคร พระองค์ยังคงปฏิบัติตามกฎระเบียบทุกอย่าง แม้ว่าจะมีความเป็นสาวอาร์ติสท์เรียนสายแฟชั่น ซึ่งบางครั้งก็อยากจะมีอะไรที่กิ๊บเก๋บ้างตามสไตล์พระองค์เอง

สไตล์การเรียนของพระองค์หญิง

ทรงโปรดและทำได้ดีมากในวิชากราฟิก แฟชั่น ประวัติศาสตร์ศิลป์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งได้เกรดเอหมด พระองค์ทรงตั้งมั่นไว้ว่าต้องทำให้ดีตั้งแต่แรก คะแนนสะสมจะได้ดีด้วย ส่วนในเวลาเรียน หรือต้องทำงานส่งอาจารย์ พระองค์มีวิธีคิดว่า

“เวลาทำงานต้องเชิญอาจารย์มาดูด้วย เพราะงานถูกใจเราหรือถูกใจเพื่อน ก็ไม่สำคัญเท่าถูกใจอาจารย์ บางทีคิดว่าสวยแล้ว แต่อาจารย์บอกว่าไม่สวยก็ต้องแก้” และไม่ว่าจะต้องแก้ไขกี่ครั้งก็ไม่เคยบ่น เพราะเข้าใจความหวังดีของอาจารย์ และก็ตั้งใจอยากทำงานให้ละเอียดออกมาดีด้วย”

ผลงานการออกแบบให้กับมหาวิทยาลัย

ในระหว่างที่ศึกษาพระองค์ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับทางมหาวิทยาลัยทุกอย่างเท่าที่เวลาจะเอื้อได้ ตั้งแต่การเป็นผู้อันเชิญพระเกี้ยว การเป็นเชียร์ลีดเดอร์ที่เน้นบันเทิงมากกว่าสวยงาม รวมถึงการเป็นผู้ออกแบบชุดเชียร์ลีดเดอร์ในงานฟุตบอลประเพณี

อุปสรรคมีไว้ให้ต้องสู้

แม้ฐานะของพระองค์จะอยู่ในจุดที่หลายคนมองว่าทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วเส้นทางสายแฟชั่นในช่วงที่พระองค์กำลังเรียนรู้ตลอด4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย ก็มีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย พระองค์มีความเครียดกับปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการซ้อมแบตมินตัน ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมที่พระองค์รักไม่แพ้แฟชั่นเลย  แม้จะเครียดกับเรื่องการซ้อมกีฬา แต่พระองค์ก็ได้ประโยชน์มาไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องความอดทน ซึ่งพอมาปรับใช้กับการทำงานด้านแฟชั่น พระองค์สามารถรับกับแรงกดดันจากสื่อได้ เพราะต้องทำใจไว้เลยว่าจะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ ซึ่งพระองค์ยังอธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“แทนที่จะกลุ้มใจ สู้มาคิดว่าทำอย่างไรให้เรามัดใจคนที่ไม่ชอบได้จะดีกว่า วิธีนี้เป็นทางแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด”

จุดเริ่มต้นในบทบาทดีไซเนอร์

การลงรายละเอียดในการทำงานในแบบของพระองค์หญิง จะไม่ใช่แค่การใส่ใจในเรื่องการออกแบบ การตัดเย็บให้เสื้อผ้าออกมาตามที่พระองค์ทรงตั้งใจเอาไว้เท่านั้น นับตั้งแต่ที่พระองค์เริ่มเข้ามาคลุกคลีกับการทำงานด้านนี้ บทบาทของการเป็นดีไซเนอร์ก็เริ่มแสดงความเป็นมืออาชีพมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างการเลือกนางแบบที่จะมาพรีเซ้นต์เสื้อผ้า พระองค์จะมีเกณฑ์การคัดตัวนางแบบไว้ชัดเจนว่า

“จะเป็นนางแบบระดับไหนก็ตาม ก็ต้องมาแคสติ้งเพื่อดูว่าใส่แล้วเหมาะกับชุดหรือไม่ มีความพร้อมแค่ไหน เป็นนางแบบต้องพร้อม มีพอร์ตงานมาด้วยไหม มีร้องเท้าหรือเปล่า บางคนใส่รองเท้าแตะฟองน้ำมา ไม่มีรองเท้าสำหรับลองชุดมาด้วย แม้ว่าคุณจะเป็นท็อปโมเดล ถ้ามาอย่างนี้ก็ต้องถูกปฏิเสธ ห้ามเสียใจด้วย เคยเห็นนางแบบเมืองนอกแต่งตัวสวยใส่ส้นสูง มือถือพอร์ตวิ่งตามดีไซเนอร์เพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุด ฉะนั้นถ้าคุณไม่พร้อมก็ต้องรู้จักการถูกปฏิเสธบ้าง”

หลังจากที่พระองค์จบการศึกษาที่ประเทศไทย ทรงศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศฝรั่งเศส ณ สถาบันเอโกล เดอ ลา ฌอมป์ซินดิกัล เดอ ลา กูตูร์ปารีเซียง และยังได้รับเชิญจากห้องเสื้อปิแยร์บาลแมง ให้จัดแสดงผลงานการออกแบบเสื้อผ้า จำนวน 39 ชุด ในงานแสดงเสื้อผ้าปารีสแฟชั่นวีค Spring/Summer 2008 ที่โอเปร่า การ์นิเย กรุงปารีส เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2550  โดยเสื้อผ้าที่จัดแสดงทรงผสมผสานระหว่างเครื่องแต่งกายแบบชาวตะวันตก กับรูปแบบผ้านุ่งไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ ตัดเย็บโดยช่างจากวิทยาลัยในวังหญิง

ปัจจุบันทรงมีแบรนด์เสื้อผ้าส่วนพระองค์คือ “สิริวัณณวรี” (Sirivannavari) และมีแบรนด์ของแต่งบ้านส่วนพระองค์ชื่อ “สิริวัณณวรีเมซอง” (Sirivannavari Maison) และทรงออกแบบคอลเล็คชั่นประจำฤดูกาลSpring/Summer 2017 โดยได้แรงบันดาลพระทัยมาจากเรื่องราวบทพระนิพนธ์ในพระองค์ ที่บอกเล่าถึงความรักของชายหญิงคู่หนึ่ง โดยคอลเล็คชั่นทรงออกแบบนี้จะมีทั้งเสื้อผ้าและเครื่องประดับของผู้ชายและผู้หญิง รวมถึงแฟชั่นจิวเวลรี่อีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up