แสตมป์ - อภิวัชร์

ซึมซับความประทับใจ 3 หนังสือที่มาของเพลงฮิตติดหูของแสตมป์ – อภิวัชร์

แสตมป์ - อภิวัชร์
แสตมป์ - อภิวัชร์

หนังสือเล่มโปรดของ แสตมป์ – อภิวัชร์

ตมป์ – อภิวัชร์ นอกจากจะแต่งเพลงด้วยประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้พบเจอ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักร้องหนุ่มคนนี้ก็คือ เรื่องราวและถ้อยคำจากหนังสือเล่มโปรด ที่เจ้าตัวซึมซับความประทับใจและกลั่นกรองเป็นถ้อยคำในเพลงฮิตที่ทำให้ผู้ฟังเข้าถึงอารมณ์ได้มากขึ้น อยากรู้ไหม เล่มไหนคือแรงบันดาลใจของแตมป์ ไปดูกันเลย    

1. ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์ โดย ลุยจิ ปิรันเดลโล

ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์

 

หนังสือเล่มนี้เพื่อนให้เป็นของขวัญวันแต่งงาน เป็นเล่มที่ผมอ่านจบภายในไม่กี่วัน บันดาลใจมาก และเป็นที่มาของเพลงล่าสุด “ฉันจะเป็นความรักเสมอ” เนื้อหาในเล่มเป็นบทละครอิตาลี ผู้กำกับกำลังกำกับละครเวทีอยู่ จู่ๆ มีคน 6 คนเดินมาจากไหนไม่รู้ แล้วขึ้นมาแสดงบนเวทีโดยไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เขากำลังเล่นกันอยู่ ตอนสุดท้ายได้เฉลยว่าตัวละครเหล่านี้ถูกเขียนขึ้น แต่เขาไม่มีโอกาสเล่น ทำให้เขามีแต่ความทุกข์ ความเศร้า

ผมอ่านแล้วเกิดไอเดียว่า ถ้าเราแต่งเพลงเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น แต่ไม่ได้ถูกใช้ ถ้าเป็นทำนองเพลงรักจะเป็นอย่างไร จึงเป็นที่มาของเพลง “ฉันเป็นความรักเสมอ” เนื้อหาเกี่ยวกับคนสองคนที่สร้างขึ้น แต่สุดท้ายต้องแยกทางกัน ความรักที่เคยสร้างไว้กลายเป็นไม่มีคนใช้ เหมือนตัวละครทั้ง 6 ตัว

2. การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก ฮารูกิ มูราคามิ เขียน โตมร ศุขปรีชา แปล

การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก

ผมนี่มูราคามิแฟนเลย อ่านทุกเรื่องและโดนทุกเรื่อง เล่มที่ชอบมากคือ “การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก” เนื้อหาโดนมาก เป็นเรื่องราวของผู้ชายที่เป็นเจ้าของบาร์แจ๊ส ชีวิตมีครบทุกอย่าง แต่ก็ยังถูกอดีตรักแรกหลอกหลอน หรืออย่างเรื่อง “1Q84” ก็มันมาก เขาใช้นิยายเดิมของจอร์จ ออร์เวลล์ มาปรับให้กลายเป็นเรื่องความรักแทน

3. Norwegian Wood ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย ฮารูกิ มูราคามิ เขียน นพดล เวชสวัสดิ์ แปล

Norwegian Wood ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย

เล่มนี้ก็ดีมาก ผมเคยดูเวอร์ชั่นหนังยังไม่ดีเท่าหนังสือเลย นิยายของเขาส่งผลต่อเพลงของผมมาก อย่างอัลบั้มชุดแรก ผมนำหนังสือของมูราคามิมาดัดแปลงและแต่งเป็นเพลงทั้งอัลบั้ม โดยเฉพาะเพลง “เพียงความคิด” เป็นช่วงที่ผมบ้ามูราคามิอย่างหนัก ท่อนที่ร้องว่า “ได้แต่ฝากความคิดของฉันเอาไว้” เป็นสไตล์คำพูดของมูราคามิมากๆ

อีกอย่างคือผมชอบภาษาของคุณนพดล เวชสวัสดิ์ ผู้แปลด้วย ผมเคยลองอ่านมูราคามิเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษก็ไม่ชอบเท่าที่คุณนพดลแปลครับ สำหรับนักเขียนในเมืองไทยผมยกให้คุณอนุสรณ์ ติปยานนท์ เป็นมูราคามิภาคอวตารแห่งเมืองไทยเลยนะ เพราะเขาเขียนด้วยภาษาที่คนปัจจุบันไม่มีทางพูดกันแบบนี้ เป็นภาษามูราคามิมาก

สุดท้ายคือผมสังเกตตัวเองว่า ถ้าช่วงไหนอ่านหนังสือเยอะ การแต่งเพลงจะละเอียดอ่อนกว่าเดิม เพราะการอ่านช่วยให้ซึมซับถ้อยคำที่สวยงาม และทำให้เรารู้สึกอินกับเรื่องราวได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วย

เรื่อง : ปาจรีย์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up