ใต้ร่มฉัตร

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ เตรียมตัวไปเรียนเมืองนอก (ตอนที่ 6)

ใต้ร่มฉัตร
ใต้ร่มฉัตร

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ เตรียมตัวไปเรียนเมืองนอก (ตอนที่ 6)

ใต้ร่มฉัตรดำเนินมาถึงตอนที่หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ทรงเดินทางไปเรียนต่อที่เมืองนอก เพื่อให้ได้ชื่อว่าไปเห็นความเป็นอารยะของบ้านเมืองอื่น ซึ่งการไปเรียนต่างประเทศของเด็กนักเรียนไทยในยุคก่อนนั้น อาจจะเป็นความฝันที่ไกลเกินเอื้อม แต่หม่อมเจ้าการวิกก็ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณนั้น อย่างที่ท่านเองก็ไม่คาดฝัน…

ความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของเด็กนักเรียนสมัยก่อนคือ การเดินทางไปเรียนต่อที่เมืองนอก เพื่อให้ได้ชื่อว่าไปเห็นความเป็นอารยะของบ้านเมืองอื่น ซึ่งโอกาสเช่นนี้มิใช่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ จะต้องพร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ ถ้าใครได้ไปก็เหมือนกับถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่ ตัวผมก็ไม่เคยคิดว่าจะได้รับโอกาสดีเช่นนี้ แม้ว่าการเดินทางไปนั้น ผมรู้สึกกลัวที่จะต้องพบกับสิ่งแปลกใหม่และสภาพสังคมชีวิตที่แตกต่างจากเดิมอยู่บ้าง แต่ความรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่จะได้พบเห็นนั้นมีมากกว่า

การเดินทางจากเมืองไทยครั้งแรกของผมนั้น ผมไม่คิดเลยว่าจะต้องจากไปนานถึงกว่า 10 ปี และในช่วงเวลานั้นเหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองได้เกิดขึ้นอย่างมากมาย อันส่งผลต่อชีวิตของผมให้แปรเปลี่ยนไปจากที่เคยคิดหวังไว้

ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงขี่พระศอหม่อมเจ้าการวิกเมื่อวัยเด็ก

เหตุที่ผมได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศนั้น เป็นเพราะว่าท่านทูตทหารชาวฝรั่งเศสท่านหนึ่ง ชื่อพันเอกโรแบรต์ เดอ ลาโปมาแรด์ (COLONEL ROBERT DE LAPOMAREDE) ได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีสวนสนามเมื่อราว พ.ศ.2472 และได้กราบบังคมทูลว่าขณะนี้ไม่มีนักเรียนไทยไปเป็นนักเรียนนายร้อยฝรั่งเศสเหมือนแต่ก่อน พระองค์ท่านจึงรับสั่งว่า แล้วจะหาให้ไปสักคนหนึ่ง เดิมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯจะให้เป็นอีกคนหนึ่ง แต่ติดตรงที่ว่าคนนั้นมีอายุมากไป ทรงเกรงว่าไปแล้วจะทำให้ต้องเรียนช้ากว่าอายุ จึงโปรดเกล้าฯเปลี่ยนมาเป็นผมแทน ซึ่งในความคิดของผมตอนนั้นอยากจะไปอังกฤษมากกว่า โดยเฉพาะอยากไปเรียนที่สกอตแลนด์ เพราะชอบเครื่องแบบของทหารชาวสกอตที่นุ่งกระโปรงแต่รบเก่ง เมื่อไม่ได้ไปผมก็ไม่เสียใจ ไปฝรั่งเศสก็ถือว่าเป็นโอกาสพิเศษที่สุดแล้ว

หลังจากนั้นก็โปรดเกล้าฯให้พระยาบรมบาทย์บำรุงมาสอนภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียนราชกุมาร ไม่นานผมก็ต้องเตรียมตัวเดินทางอย่างเร็ว พระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้คุณสอาด มีชูธน พาผมไปทำหนังสือเดินทางที่กระทรวงการต่างประเทศ และไปตัดเสื้อผ้าสำหรับใส่ที่เมืองนอกที่ห้าง S.T. DOST ของชาวเยอรมัน อยู่แถวสี่กั๊กพระยาศรี ตรงบริเวณถนนเจริญกรุงตัดกับถนนบำรุงเมือง จำได้ว่าตัดเสื้อเชิ้ตกับกางเกงขาสั้น 2 ชุด เป็นผ้าสักหลาดสีเทาแก่ มีเน็คไทและถุงเท้าด้วย

ผมเข้าไปกราบบังคมทูลลาพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีในคืนก่อนวันเดินทาง พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่า

“ให้ไปเรียนนะ ไม่ใช่ไปเที่ยว ตั้งใจเรียนให้ดี ฉันอยากเห็นแกเป็นนายพลก่อนฉันตาย อย่าเผลอไปก็แล้วกัน” ซึ่งตอนนั้นทรงตั้งพระราชหฤทัยให้ผมไปเรียนด้านทหาร และได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงลงพระปรมาภิไธยไว้เพื่อเตือนใจว่าทรงส่งไปเรียน ไม่ใช่ไปเที่ยว

หม่อมเจ้าการวิกช่วงวัยรุ่นที่ฝรั่งเศส

ผมออกเดินทางตอนเช้าของวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2472 อันตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าอยู่หัวด้วย โดยขึ้นรถไฟที่สถานีหัวลำโพง ซึ่งการเดินทางไปเมืองนอกแต่ก่อนเป็นเรื่องใหญ่มาก พ่อแม่พี่น้องญาติผู้ใหญ่ต้องมาส่งกันคับคั่ง เพราะว่าคนที่ไปแล้วมักหายเลย จนกว่าจะเรียนจบกลับมา เนื่องจากพาหนะโดยสารมิได้สะดวกรวดเร็วเหมือนตอนนี้ ผมเองก็เช่นกัน เสด็จพ่อ แม่ และยายก็มาส่งพร้อมพี่น้องหลายองค์ ทีแรกผมคิดว่ายายมาส่งผมต้องร้องไห้แน่ แต่ผิดคาด ยายให้พรน่ารักตามประสาว่า

“ท่านชายของยายต้องไปเรียนให้เก่งเหมือนทวี (ลูกของป้าคนหนึ่ง) แต่ต้อง ‘ไล่’ ให้ได้ที่ 3 นะ” (ยายหมายถึงสอบไล่)

“ทำไมต้องที่ 3 ด้วยล่ะยาย”

“ไม่ได้หรอก ที่ 1 ต้องเป็นพระองค์ชาย (พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร) ที่ 2 ต้องเป็นท่านกาติ๊บ (หม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์) ยายได้ข่าวท่านเรียนเก่งมาก อย่าบังอาจไปแข่งกับท่านนะ”

ความจริงทั้งพระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตรและพี่คัสตาวัสกำลังศึกษาอยู่ประเทศอังกฤษ แต่ความเข้าใจของยายคือ เมืองนอกทั้งหมดเป็นประเทศเดียวกัน และเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน ใช่ว่าจะมีแต่ยายคนเดียวที่เห็นโลกแคบเป็นแค่จุดเดียว ยังมีคนอื่นอีก คือ มีผู้ใหญ่คนหนึ่งเขาฝากน้ำพริกเผากระปุกหนึ่งถึงลูกชาย ถามว่าอยู่ที่ไหน เขาบอกว่าอยู่เมืองนอก แต่ที่ไหนไม่รู้ เอาไปให้ด้วยก็แล้วกัน ผมก็รับฝากมา

ในตอนท้ายยายยังอวยพรอีกว่า ขอให้ไปโดยปลอดภัย อย่าให้เรือแตก ส่วนแม่ไม่ได้พูดสั่งอะไร ขณะที่เสด็จพ่อขึ้นมาส่งถึงบนรถไฟและรับสั่งว่า

“ใจแข็งนะลูก ลูกเป็นตัวแทนของเมืองไทย อย่าไปทำอะไรให้ขายหน้า ที่สำคัญ ลูกผู้ชายอย่าร้องไห้” พอรับสั่งเสร็จเท่านั้น ผมร้องไห้เลย หลังจากกลั้นมานาน เพราะอดใจหายไม่ได้ และที่สำคัญที่สุด ผมไม่คิดเลยว่าการเดินทางครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้เห็นเสด็จพ่อกับยาย…

คณะเดินทางคราวนั้นมีกันหลายคน โดยหม่อมเจ้าดำรัสดำรง เทวกุล ทรงได้รับมอบหมายให้เสด็จไปรับตำแหน่งทูตที่อังกฤษ และทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลทุกคนในระหว่างการเดินทาง ท่านเสด็จพร้อมพระชายาและโอรส-ธิดาอีก 3 คน และหม่อมเจ้าหญิงอุบลพรรณี (วรวรรณ) หรือท่านหญิงตัด ซึ่งเป็นพระขนิษฐาในพระชายาของหม่อมเจ้าดำรัสดำรงด้วย (ต่อมาทรงลาออกจากฐานันดร และสมรสกับชาวอังกฤษ เป็นมิสซิส CRABB) นอกจากนั้นก็มีคุณพื้นทอง ทองเจือ คุณอั๋น ผลพันธิน ไปเรียนที่อังกฤษ คุณเฉลิม ศรีวรรธนะ บุตรชายคนใหญ่ของพระยาบรมบาทย์ฯเรียนที่ฝรั่งเศส ทั้งสามคนอยู่ในวัยหนุ่ม มีอายุมากกว่าผม เฉพาะคุณเฉลิมยังได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศสแก่ผมต่อจากเจ้าคุณบรมบาทย์ฯในระหว่างที่เดินทางอีกด้วย

หม่อมเจ้าการวิกกับครอบครัวชาวฝรั่งเศสที่ทรงพำนักด้วย

ตอนที่รถไฟออกจากหัวลำโพง ผมยังแต่งตัวแบบไทย คือ สวมเสื้อราชปะแตน นุ่งโจงกระเบน แต่ก็จินตนาการไปตามประสาเด็กบ้านนอกที่ยังไม่รู้จักเมืองนอก คือเข้าใจไปว่าเมืองนอกต้องมีอากาศหนาวเย็นเหมือนที่เคยเห็นในหนัง พอตกค่ำผมเข้าไปอาบน้ำในห้องน้ำหรูของรถไฟ เปลี่ยนเครื่องแต่งตัว ด้วยเห็นว่าจวนจะถึงเกาะปีนังเข้าเขตมลายูซึ่งเป็นเมืองนอกแล้ว ต้องใส่เสื้อเชิ้ตที่เป็นเนื้อผ้าประเภทมีขนสัตว์ปนอยู และผูกเน็คไท ปรากฏว่าผดขึ้น เพราะร้อนเหลือเกิน

จากปีนังต่อไปยังสิงคโปร์เพื่อลงเรือสัญชาติฝรั่งเศส ชื่อ “อองเดร เลอ บง” (ANDRE LE BON) เป็นเรือหรู มีอาหารการกินอย่างดี อยู่สบาย เขาจัดตกแต่งอย่างเรือสำราญที่เคยเห็นในหนังสือ มีดาดฟ้าสำหรับให้ไปนั่งพักผ่อน ในห้องอาหารมีเวทีลีลาศ เวลาไปนั่งอยู่ที่ไหนก็มีบ๋อยฝรั่งคอยมาถามเพื่อเสิร์ฟเครื่องดื่มจำพวกชา กาแฟ หรือซุปใส ภาพฝรั่งที่เห็นทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นแกมประหลาดใจอยู่บ้าง ด้วยสมัยนั้นผมมักเห็นฝรั่งที่เดินอยู่ในเมืองไทยใส่หมวกโก้ แต่งชุดสากลเดินเหงื่อแตก จมูกแดง เพราะพวกเขาจะถือศักดิ์ศรีของชาติตัวเองมาก ผมไม่เคยเห็นฝรั่งที่มาคอยเสิร์ฟอาหารและเช็ดโต๊ะเลย ส่วนอาหารในเรือก็เป็นอาหารฝรั่งทั้งหมด ผมก็คิดว่าต้องรับประทานอย่างเขาถึงจะโก้ จึงสั่งเนื้อไก่กับหมูแฮมทุกมื้อ แต่พวกเรารับประทานกันได้สักสัปดาห์หนึ่งก็ไม่ไหว เริ่มมองมาที่กระปุกน้ำพริกเผา ความซื่อสัตย์ที่มีแต่แรกและคิดว่าอาจจะตามหาเจ้าของพบมีอันต้องเลิกไป

เมื่อพวกเราตัดสินใจสั่งขนมปังมาในห้อง บ๋อยที่มาเสิร์ฟขนมปังก็ยังอดไม่ได้ที่จะขอชิมด้วย…

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up