ฟ้าหลังฝนของเจ้าหญิง

เป็นที่ทราบกันดีว่าเจ้าหญิงมาซาโกะแห่งญี่ปุ่นทรงล้มป่วยเนื่องจากความเครียดหลังจากที่เสกสมรส เข้ามาเป็นสะใภ้หลวงได้ไม่นาน จากหญิงสาวสามัญชนเมื่อมาร่วมชีวิตกับมงกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ความกดดันที่ถูกคาดหมายให้มีโอรส และชีวิตที่ต้องอยู่ภายใต้ขนบธรรมเนียมอันเข้มงวด เจ้าหญิงมาซาโกะจึงเกิดความเครียดถึงขั้นส่งผลต่อร่างกาย ทำให้พระองค์ต้องเก็บตัว งดออกงานพิธีใดๆ เป็นเวลานานหลายปี

แต่แล้วเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วพระองค์ก็เสด็จฯ ไปเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี นับจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ครบรอบ 1 ปีพอดี ข่าวว่าเจ้าหญิงทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงขึ้นตามลำดับ ว่ากันว่าบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการโน้มน้าวให้พระองค์ทรงยอมเสด็จฯ เยือนต่างประเทศในครั้งนั้นคือ สมเด็จพระราชินีนาถแม็กซิม่าแห่งเนเธอร์แลนด์

วันนี้จึงเป็นวันใหม่ที่สดใสของเจ้าหญิงมาซาโกะ ว่าที่จักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นในอนาคต

ตัวตนของเจ้าหญิง

เจ้าหญิงมาซาโกะทรงมีนามเดิมว่า มาซาโกะ โอวาดะ เป็นบุตรีคนโตของนางยูมิโกะ เอกาชิร่า และนายฮิซาชิ โอวาดะ นักการทูตระดับสูงและอดีตประธานตุลาการศาลระหว่างประเทศ

ในวัยเด็ก เด็กหญิงมาซาโกะต้องติดตามบิดาไปใช้ชีวิตอยู่ในมอสโควและนิวยอร์ก เพราะบิดาถูกส่งไปรับตำแหน่งที่นั่น ก่อนกลับมาอยู่ญี่ปุ่นประมาณ 8 ปี แล้วไปเข้าเรียนไฮสคูลที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา เนื่องจากบิดาได้รับเชิญเป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ศูนย์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด

นอกจากมีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีแล้ว มาซาโกะยังเป็นนักกิจกรรมด้วย สมัยเรียนมัธยมเธอเป็นประธาน National Honor Society อยู่ทีมคณิตศาสตร์ เข้าชมรมภาษาฝรั่งเศส อยู่ทีมซอฟท์บอลของโรงเรียน เคยได้รางวัลจากการประกวดแต่งกลอนภาษาเยอรมัน และยังมีส่วนร่วมในการผลิตซีรีส์ดังอย่าง M*A*S*H* อีกด้วย

มาซาโกะได้ทุนการศึกษาเข้าเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ฮาร์วาร์ด หลังเรียนจบมัธยมบิดาของเธอได้รับตำแหน่งให้ไปประจำที่มอสโคว์ ครอบครัวตัดสินใจให้เธออยู่ที่บอสตันเพื่อเรียนต่อ โดยอยู่ในการดูแลของ โอลิเวอร์และบาร์บาร่า โอลด์แมน ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของบิดาสมัยเรียนฮาร์วาร์ด

มาซาโกะได้เป็นประธาน Japan Society ของฮาร์วาร์ด และนี่เองทำให้เธอได้เพื่อนสนิทซึ่งต่อมาได้เป็นกงสุลญี่ปุ่นในบอสตัน ช่วงปิดภาคเรียนมาซาโกะชอบเล่นสกีและเดินทางไปต่างประเทศ เธอพักกับครอบครัวหนึ่งในฝรั่งเศส และเรียนภาษาเยอรมันที่สถาบันเกอเธ่

หลังจากเรียนจบมาซาโกะกลับมาญี่ปุ่น เข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยโตเกียวเพื่อเตรียมตัวสอบบรรจุเข้ากระทรวงการต่างประเทศ จากผู้สมัครทั้งหมด 800 คน สอบผ่านเพียง 28 คน เป็นผู้หญิง 3 คน และ 1 ใน 3 นั้นคือมาซาโกะ ด้วยความมุ่งมั่นขยันและความได้เปรียบด้านภาษา ทำให้มาซาโกะโดดเด่นและเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนร่วมงาน ในยามว่างเธอก็ไปเข้าคลาสเรียนทำอาหาร ทำให้เธอสามารถทำอาหารญี่ปุ่นต้อนรับแขกชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี

สองปีต่อมา มาซาโกะได้รับเลือกจากกระทรวงต่างประเทศให้ไปศึกษาต่อปริญญาโทในต่างประเทศ โดยทางกระทรวงจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เหมือนที่บิดาของเธอเคยได้รับมาก่อน มาซาโกะต้องการกลับไปเรียนปริญญาโทที่ฮาร์เวิร์ดมาก แต่ฝ่ายบริหารของฮาร์เวิร์ดไม่รับรองการลงเรียนที่มหาวิทยาลัยโตเกียวของเธอ ดังนั้นมาซาโกะจึงหันไปทางเลือกที่สองคือ ลงเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ Balliol College ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และเดินทางกลับญี่ปุ่นในปี 1990 โดยที่ยังทำวิทยานิพนธ์ไม่เสร็จ

เส้นทางรักที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ในปี 1986 มาซาโกะพบกับมงกุฎราชกุมารนารูฮีโต้ครั้งแรกในงานเลี้ยงน้ำชาแด่ เจ้าหญิงเอเลน่า พระธิดาองค์โตในกษัตริย์ฮวน คาลอส แห่งสเปน ขณะนั้นมาซาโกะกำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เจ้าชายทรงประทับใจในตัวเธอตั้งแต่แรกพบเลยทีเดียว หลังจากนั้นอีก 2-3 สัปดาห์ต่อมาก็ได้มีการจัดให้ทั้งสองพบกันอีกหลายครั้ง ด้วยเหตุนี้เองทั้งสองจึงถูกสื่อมวลชนเชียร์และตามติดอย่างหนักตลอดปี 1987 เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแรงเชียร์มากมาย แต่ใช่ว่าความรักจะราบรื่นไปด้วย เพราะชื่อของมาซาโกะไม่อยู่ในรายชื่อสาวที่อาจได้เป็นสะใภ้หลวง เนื่องจากเรื่องอื้อฉาวในอดีตที่ ยูตากะ เอกาชิร่า คุณตาของเธอเข้าไปเกี่ยวพันด้วย สมัยที่ยูตากะทำงานที่ Industrial Bank of Japan ได้รับมอบหมายให้เข้าดูแลจัดการบริษัทแห่งหนึ่งไม่ให้ประสบภาวะล้มละลาย ซึ่งบริษัทนี้ได้ทิ้งสารปรอทใช้แล้วลงในแหล่งน้ำรอบเมืองมินามาตะ ทำให้เกิดโรคมินามาตะที่เป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่ว

นอกจากเรื่องอื้อฉาวนี้ มาซาโกะยังเดินทางไปเรียนต่อที่อังกฤษ 2 ปี แต่เจ้าชายนารูฮิโต้ก็ยังทรงสนพระทัยในตัวเธอไม่เปลี่ยนแปลง

ต่อมาเมื่อเจ้าชายนารูฮิโต้ทรงขอมาซาโกะแต่งงาน เธอก็ปฏิเสธถึงสองครั้ง เพราะการแต่งงานจะบีบบังคับให้เธอละทิ้งอาชีพทางการทูตที่เธอยึดมั่น และจำกัดสิทธิเสรีภาพของเธออย่างรุนแรง

ในที่สุดมาซาโกะก็ยอมตอบตกลงเมื่อเจ้าชายทรงขอเธอเป็นครั้งที่สาม โดยพระองค์ยืนกรานกับเธอว่า การเป็นเจ้าหญิงแห่งญี่ปุ่นคือ “การทูตในอีกรูปแบบหนึ่ง” สำนักพระราชวังมีแถลงการณ์ถึงพิธีเสกสมรสซึ่งจะจัดขึ้นในปีถัดมา (9 มิ.ย. 1993) ท่ามกลางความประหลาดใจของสาธารณชน เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่าทั้งสองไม่ได้คบหากันแล้ว

ความเครียดรุมเร้า

เจ้าหญิงมาซาโกะทรงเก็บตัวไม่ออกสู่สาธารณชนมาตั้งแต่ปี 2002 ตามรายงานข่าวบอกว่า อันเนื่องมาจากสภาพจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากความกดดันให้มีรัชทายาทเพศชาย และชีวิตที่ต้องอยู่ในกรอบของธรรมเนียมปฏิบัติ สองปีต่อมาพระองค์ถูกวินิจฉัยว่า ทรงมีปัญหาในการปรับตัวและกำลังหาวิธีรักษา

การเก็บเนื้อเก็บตัวของเจ้าหญิงมาซาโกะ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา คนที่ไม่เข้าใจก็คิดว่า เจ้าหญิงทรงอู้งาน ไม่อยากเหนื่อยกับการประกอบพระกรณียกิจ จึงบอกว่าไม่สบายดื้อๆ บางคนก็ผิดหวังในตัวเจ้าหญิง เพราะเคยคิดว่าเจ้าหญิงคือคนรุ่นใหม่ เป็นหญิงสาวที่มีความรู้ความสามารถ อาจนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ราชวงศ์เก่าแก่ซึ่งเข้มงวดในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี

มงกุฎราชกุมารนารูฮิโต้ทรงขอร้องให้สาธารณชนเข้าใจและเห็นใจชายาที่กำลังล้มป่วย พระองค์ตรัสว่า เจ้าหญิงมาซาโกะทรงอยู่ในภาวะที่ต้องการกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง ทรงขอร้องให้ทุกคนเฝ้ามองเจ้าหญิงด้วยใจกรุณาต่อไปอีกนานๆ

หากสาธารณชนไม่เข้าใจเจ้าหญิงมาซาโกะในตอนนั้น ก็เท่ากับว่าพระองค์ถูกกดดันทุกด้านทุกฝ่าย หันไปทางใดก็ไม่มีใครเข้าใจ

อย่างไรก็ตามในวันคล้ายวันประสูติครบ 49 ชันษา เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2012 เจ้าหญิงทรงมีแถลงการณ์ขอบคุณพสกนิกรชาวญี่ปุ่นที่เข้าใจให้กำลังใจพระองค์ และยืนยันว่ายังทรงรับการรักษาอยู่

ครั้งแรกในรอบ 11 ปี

เมื่อปลายปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของญี่ปุ่นรายงานว่า บุคคลที่มีส่วนสำคัญให้เจ้าหญิงมาซาโกะมีพระพลานามัยแข็งแรงขึ้นคือ สมเด็จพระราชินีนาถแม็กซิม่า แห่งเนเธอร์แลนด์

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วในการประชุมที่จัดขึ้นในนิวยอร์ก เจ้าชายวิลเล็ม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์(ในขณะนั้น)ทรงพบกับเจ้าชายนารูฮิโต้ จึงถือโอกาสทูลเชิญเจ้าชายให้เสด็จฯ ร่วมพิธีราชาภิเษกของพระองค์ที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายนที่เนเธอร์แลนด์

หลังจากนั้นเมื่อทราบว่า เชื้อพระวงศ์แห่งญี่ปุ่นทรงลังเลพระทัยที่จะเสด็จฯ มาร่วมงาน เจ้าหญิงแม็กซิม่าทรงต่อสายเป็นการส่วนพระองค์ถึงเจ้าหญิงมาซาโกะ เพื่อโน้มน้าวให้เจ้าหญิงเสด็จฯ มาร่วมพิธี และการสนทนานี้ได้ทำให้เจ้าหญิงมาซาโกะทรงมีความมั่นใจมากขึ้น

ในที่สุดเจ้าหญิงมาซาโกะก็ตัดสินพระทัยเสด็จฯ เยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ด้วยการเสด็จฯ พร้อมด้วยมงกุฎราชกุมารนารูฮิโต้ ไปร่วมพิธีราชาภิเษกของเจ้าชายวิลเล็ม-อเล็กซานเดอร์ ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์

ราชวงศ์เนเธอร์แลนด์และราชวงศ์ญี่ปุ่นมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นต่อกันมายาวนาน ในปี 2006 ซึ่งเป็นสองปีหลังจากที่เจ้าหญิงมาซาโกะถูกวินิจฉัยว่าล้มป่วยเนื่องจากมีปัญหาในการปรับตัว สมเด็จพระราชินีเบียทริกซ์ได้ทูลเชิญเจ้าชายนารูฮิโต้ เจ้าหญิงมาซาโกะ และพระธิดา เจ้าหญิงไอโกะ มาประทับพักผ่อนที่พระราชวังส่วนพระองค์ใน Apeldoorn เป็นเวลา 2 สัปดาห์

แหล่งข่าวให้ความเห็นว่า ราชินีเบียทริกซ์ทรงเข้าใจและเห็นพระทัยในอาการป่วยของเจ้าหญิงมาซาโกะ เนื่องจาก เจ้าชายเคลาส์ พระสวามีผู้ล่วงลับไปแล้วของพระองค์ก็ทรงล้มป่วยด้วยโรคเครียดเช่นกัน

เจ้าหญิงในวันนี้

หลังจากล้มป่วยมานานกว่าสิบปี พระพลานามัยของเจ้าหญิงมาซาโกะก็ดีขึ้นตามลำดับตั้งแต่กลางปีที่แล้วเป็นต้นมา คาดว่าในปีนี้เจ้าหญิงจะสามารถเสด็จฯ ออกประกอบพระกรณียกิจได้มากขึ้นเรื่อยๆ

บุคคลใกล้ชิดกับเจ้าหญิงเผยว่า เจ้าหญิงมาซาโกะทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงขึ้นหลังจากเสด็จฯ ไปร่วมพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเล็ม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์ ตอนแรกเจ้าหญิงทรงกังวลกับอาการป่วยของพระองค์ แต่เมื่อได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นพระองค์ก็รู้สึกผ่อนคลาย และร่วมงานพิธีโดยไม่มีปัญหาใดๆ

ดูเหมือนเจ้าหญิงทรงมีความมั่นใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นเจ้าหญิงไอโกะก็มีส่วนช่วยพระมารดาด้วย คือปี 2010 เจ้าหญิงไอโกะทรงมีปัญหาในการไปโรงเรียน ทำให้เจ้าหญิงมาซาโกะต้องเสด็จฯ ไปรับ-ส่งพระธิดาที่โรงเรียนทุกวัน ต่อมาภายหลังเมื่อเจ้าหญิงไอโกะทรงโอเคกับการไปโรงเรียนแล้ว เจ้าหญิงมาซาโกะก็ทรงมีความสุขขึ้น

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ช่วยให้อาการของเจ้าหญิงดีขึ้นคือ ความรักความเข้าใจ และสายสัมพันธ์อันแนบแน่นจากเจ้าชายนารูฮิโต้ ที่ยืนหยัดอยู่เคียงข้างเจ้าหญิงเสมอมา

ความจริงอาการของเจ้าหญิงยังคงขึ้นลงแปรปรวนอยู่บ้าง แต่พระองค์จะทรงดีขึ้นด้วยพระองค์เอง ทางสำนักพระราชวังแจ้งว่า ภายในปีนี้พสกนิกรจะได้เห็นพระองค์เสด็จฯ ออกงานมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะเจ้าหญิงขวัญใจของปวงชน เมฆหมอกที่เคยครอบคลุมมากว่าสิบปีกำลังเคลื่อนผ่านไปแล้ว.

Crown Prince Naruhito & Crown Princess Masako of Japan

เรื่อง : ชนานันท์
ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับ 832 คอลัมน์ royal update


Praew Recommend

keyboard_arrow_up